สารเคมีกับพืชผัก



กะหล่ำดาว (Brassica oleracea var. gemmifera L.)
เพิ่มผลผลิต
การใช้ daminozide อัตรา 150 กรัมต่อไร่ผสมนํ้า 80 ถึง 110 ลิตร (ความเข้มข้น 1,500 ถึง 2,000 มก/ล) พ่นให้ทั่วต้นจะช่วยในการแตกแขนงข้างดีขึ้น การใช้สารนี้เหมาะสำหรับพันธุ์ที่มีต้นสูงและสูงปานกลาง ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกันทั้งต้น ช่วงเวลาที่เหมาะ สำหรับการให้สารคือ เมื่อแขนงด้านล่างมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 ซม ภายหลังการให้สารแล้วไม่ควรเก็บเกี่ยวภายใน 6 สัปดาห์

ข้าวโพดหวาน (Zea mays var. rugosa)
เพิ่มเกสรตัวผู้
การแช่เมล็ดข้าวโพดหวาน “ไทย ซูเปอร์สวีท คอมพอสิต # 1 ดี เอ็ม อาร์” ในสารละลาย GA3 ความเข้มข้น 200 มก/ ล จนกระทั่งเริ่มงอก จึงนำไปเพาะในแปลงปลูกจะทำให้จำนวนเกสรตัวผู้เพิ่มมากขึ้นประมาณ 5 เท่า และช่อดอกตัวผู้มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงเหมาะที่จะปลูกแทรกในแปลงปลูกขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผสมเกสร และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม

แครอท (Daucus carota L.)
เพิ่มผลผลิต
สาร chlormequat และ daminozide มีผลในการเพิ่มผลผลิต (นํ้าหนักราก) ทำให้การลงหัวดีขึ้นและได้ขนาดค่อนข้างสมํ่าเสมอมากขึ้น ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 2,000 มก/ ล โดยให้ในระยะที่ต้นสูงประมาณ 20 ซม การใช้ chlormequat หรือ daminozide ให้ผลไม่แตกต่างกัน แต่แครอทต่างพันธุ์กันจะมีการตอบสนองได้ไม่เหมือนกัน การทดลองใช้สารกับพันธุ์ Autumn King จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20-25 เปอร์เซ็นต์ แต่พันธุ์ Chantenay ไม่ตอบสนอต่อสาร (Dyson, 1972) ดังนั้นเมื่อจะใช้สารนี้ในการเพิ่มผลผลิตแครอทจึงควรทดลองทำเพียงเล็กน้อยก่อน

ยับยั้งการแตกยอด
การใช้ maleic hydrazide ความเข้มข้น 4,000 ถึง 5,000 มก/ล (หรืออัตรา 650 กรัม/ไร่โดยผสมนํ้า 120 ถึง 150 ลิตร/ไร่) พ่นให้ทั่วต้นก่อนการเก็บเกี่ยว 4 ถึง 6 สัปดาห์ จะช่วยลดการแตกยอดใหม่จากหัวแครอทในระหว่างการเก็บรักษา การปฏิบัติเช่นนี้ใช้กันในประเทศแคนาดาโดยการพ่นสารทางใบด้วยเครื่องพ่นแรงดันสูง เพื่อให้สารเปียกใบได้ทั่ว ถ้ามีฝนตกภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังการให้สารจะทำให้ประสิทธิภาพของสารลดลงเนื่องจากสารบางส่วนถูกชะล้างออกไป

แตงกวา (Cucumis sativus L.)
เปลี่ยนเพศดอก
GA3 ความเข้มข้น 1,000 มก/ล กระตุ้นให้เกิดดอกตัวผู้ได้ ในต้นแตงกวาสายพันธุ์ที่ให้แต่ดอกตัวเมีย วิธีการให้สารคือใช้แปรงจุ่มในสารละลาย GA3 แล้วทาที่ยอดของต้นกล้า แตงกวาในระยะที่มีใบจริง 1-2 ใบ และถ้าจะให้ได้ผลดีขึ้นควรให้สาร 2-3 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกัน ประมาณ 3 วัน โดยปกติแล้วการใช้สาร GA4 + GA7 จะให้ผลดีกว่าการใช้ GA3 การกระตุ้นให้เกิดดอกตัวผู้มีประโยชน์มากสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ทำให้มีละอองเกสรตัวผู้ เพื่อใช้ในการผสมพันธุ์มากขึ้น สารอื่นนอกเหนือ GAS ที่สามารถกระตุ้นการเกิดดอกตัวผู้ได้คือ เกลือเงินไนเตรท (silver nitrate) โดยใช้สารนี้ความเข้มข้น 100 ถึง 200 มก/ล พ่นต้นกล้า ในขณะที่ใบจริงใบที่ 4 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 3 ซม และควรให้สารซ้ำอีกครั้ง ภายหลังการให้สารครั้งแรกแล้ว 7-10 วัน (Tolla และ Peterson, 1979) เกลือเงินไนเตรทไม่ใช่PGRC และยังไม่มีผลิตขึ้นมาใช้ในรูปสารเคมีการเกษตร

สารใหม่อีกชนิดหนึ่งคือ phthalimide ก็ให้ผลคล้ายคลึงกับการใช้ GAS โดยกระตุ้นให้เกิดดอกตัวผู้ได้เมื่อใช้สารความเข้มข้น 1,000 มก/ลพ่นต้นกล้าระยะที่มีใบจริงเพียงใบเดียวและให้สารซ้ำอีกครั้งหลังจากครั้งแรก 1 สัปดาห์ จะทำให้เกิดดอกตัวผู้ในข้อแรกๆ ของต้นและชะลอการเกิดดอกตัวเมีย (Xu และ Bukovac, 1983) อย่างไรก็ตามการใช้เกลือเงินไนเตรทหรือ phthalimide ยังไม่อยู่ในขั้นทำเป็นการค้าได้

ในกรณีที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดดอกตัวเมียในข้อแรกๆ ของต้นแตงกวาสายพันธุ์ที่ให้ทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย ทำได้โดย ใช้ ethephon ความเข้มข้น 125 มก/ล พ่นต้นกล้าให้ทั่วในขณะที่ต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ โดยปกติดอกที่เกิดในข้อแรกๆ ของแตงกวาจะเป็นดอกตัวผู้ แต่ถ้าการให้สาร ethephon จะช่วยให้เกิดดอกตัวเมียได้เร็วขึ้น การตอบสนองต่อสารขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการดูแลรักษาต้นแตงกวา ดังนั้นความเข้มข้นที่ใช้จึงอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และการให้สารซํ้าหลายครั้งมักจะได้ผลดีกว่าการให้สารเพียงครั้งเดียว

เพิ่มการติดผล
chlorflurenol อัตรา 11.5 ถึง 18 กรัมต่อไร่(ผสมน้ำ 120 ถึง 150 ลิตรต่อไร่ จะไค้ความเข้มข้นประมาณ 75 ถึง 150 มก/ล) ช่วยเพิ่มการติดผลโดยไม่มีเมล็ด สำหรับแตงกวาสายพันธุ์ที่ให้แต่ดอกตัวเมียเท่านั้น การใช้สารนี้นิยมทำกับแตงกวาที่ใช้ดองโดยช่วยเพิ่มการติดผลและผลผลิต สารนี้จะไม่ใช้กับแตงกวาสายพันธุ์ที่ให้ดอกทั้งตัวผู้และตัวเมีย เนื่องจากจะกระตุ้นให้เกิดดอกตัวผู้มากขึ้น ระยะที่เหมาะสมในการให้สารคือเมื่อดอกตัวเมียในต้นบานได้ 6 ถึง 8 ดอก หรือมากกว่า โดยการพ่นสารให้ทั่วทั้งต้นและดอกเพียงครั้งเดียว ข้อจำกัดของการใช้สารนี้คือ ถ้ามีดอกใดในต้นได้รับการผสมเกสรจะทำให้ดอกที่เหลือไม่ติดผลหรือเกิดเป็นผลขนาดเล็ก ดังนั้นจึงต้องปลูกในแหล่งที่ห่างจากแปลงแตงกวาสายพันธุ์ที่ให้ดอกทั้งตัวผู้และตัวเมีย เพื่อป้องกันการผสมเกสรดังกล่าว อีกประการหนึ่งคือ chlorflurenol จะใช้ไม่ได้ผลถ้าต้นแตงกวา
ขาดนํ้า ดังนั้นจึงต้องมีระบบชลประทานที่เหมาะสม

ปวยเหร็ง (Spinacia oleracea L.)
เพิ่มผลผลิต
การทดลองใช้ GA3 ความเข้มข้น 10 ถึง 40 มก/ ล พ่นให้ทั่วต้นปวยเหร็ง จะทำให้ความสูงและทรงพุ่มเพิ่มขึ้น นํ้าหนักใบและก้านจะเพิ่มมากขึ้นโดยที่คุณภาพด้านอื่นๆ ไม่ลดง อย่างไรก็ตามจะต้องมีการทดลองต่อไปอีกเพื่อหาความเหมาะสมสำหรับใช้ในทางปฏิบัติ

ผักกาดขาวปลี (Brassica campestris L. ssp pekinensis (Lour) Olsson)
เพิ่มผลผลิต
การปลูกผักกาดขาวปลีนอกฤดู โดยปกติจะให้ผลผลิตตํ่าและไม่สามารถห่อปลีได้แน่น สาร daminozide ช่วยเพิ่มผลผลิตของผักกาดขาวปลีที่ปลูกนอกฤดูได้ จากการทดลองของจำนงค์และคณะ (2525) โดยใช้ daminozide ความเข้มข้น 1,000 ถึง 4,000 มก/ ล พ่นต้นผักกาดขาวปลีพันธุ์เทียนจิน # 23 ซึ่งปลูกนอกฤดู (มิถุนายนถึงกันยายน) โดยให้สาร 4 ครั้ง เว้นช่วง 4 วันต่อครั้งซึ่งเริ่มให้ครั้งแรกเมื่อต้นกล้าอายุ 30 วัน หลังจากย้ายลงปลูกในแปลง พบว่าการใช้สารความเข้มข้น 2,000 มก/ล จะทำให้เกิดการห่อปลีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และนํ้าหนักปลีเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ต่อมาได้มีการทดลองในทำนองนี้อีกและพบว่าการให้สาร daminozide ความเข้มข้น 2,000 มก/ ล เพียงครั้งเดียวเมื่อต้นอายุ 30 วัน หลังการย้ายปลูก ก็สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่จำเป็นต้องให้สารถึง 4 ครั้ง ผักกาดขาวปลีแต่ละพันธุ์ตอบสนองต่อสารได้ไม่เหมือนกัน เช่นพันธุ์ B40 ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ทนร้อนแต่ให้ปลียาว จะตอบสนองต่อสารได้ดีโดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 380 กรัมต่อต้น และมีการห่อปลีได้ 80 เปอร์เซ็นต์จากสภาพปกติซึ่งไม่ห่อปลีและไม่ให้ผลผลิตเลย เมื่อปลูกในฤดูร้อน ส่วนพันธุ์ hybrid #58 ซึ่งเป็นพันธุ์ทนร้อน สามารถให้ผลผลิตได้สูงโดยไม่ต้องให้สารเมื่อปลูกในฤดูร้อน แต่มีลักษณะปลีสั้นซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด การใช้สาร laminozide กับผักกาดขาวปลีพันธุ์ทนร้อนนี้ ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นมาได้อีกจากปกติ

ผักกาดเขียวปลี (Brassica juncea var rugosa)
เพิ่มผลผลิต
มีการทดลองใช้ daminozide ความเข้มข้น 2,000 และ 4,000 มก/ ล พ่นต้นผักกาดเขียวปลีที่ปลูกในฤดูร้อน (กุมภาพันธ์ ถึงกรกฎาคม) โดยให้สารเพียงครั้งเดียวภายหลังการย้ายปลูก 25 หรือ 30 วัน พบว่าการใช้สาร daminozide ทั้ง 2 ความเข้มข้น เมื่ออายุ 25 หรือ 30 วันหลังการย้ายปลูกจะทำให้ผลผลิต (น้ำหนักปลี) เพิ่มขึ้นจากเดิมต้นละ 40 กรัม เป็นต้นละ 100 ถึง 106 กรัม และเพิ่มเปอร์เซ็นต์การห่อปลีจาก 40 เป็น 76 ถึง 81 เปอร์เซ็นต์ จากผลการทดลองดังกล่าวนี้อาจใช้เป็นแนวทางในการผลิตผักกาดเขียวปลีสำหรับทำผักกาดดองบรรจุ กระป๋อง ทำให้มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานได้ตลอดปีสาร daminozide เป็นสารเคมีที่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศอนุญาตให้ใช้ได้ พืชหลายชนิดสำหรับการบริโภคเนื่องจากมีความเป็นพิษตํ่า ดังนั้นการใช้ daminozide ในการเพิ่มผลผลิตผักกาดเขียวปลีและพืชอื่นๆ อาจจัดได้ว่าอยู่ในระดับปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

ผักกาดหอม (Lactuca sativaL.)
เพิ่มการแทงช่อดอก (bolting)
การใช้ GA3 ความเข้มข้น 10 มก/ล พ่นให้ทั่วต้นจะมีผลชักนำให้เกิดการแทงช่อดอกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการผลิตเมล็ดพันธุ์ วิธีการให้สารที่ได้ผลดีคือ การให้สาร 3 ครั้ง โดยให้ในระยะที่มีใบจริง 4, 8 และ 12 ใบ

ยับยั้งการแทงช่อดอก
สารชะลอการเจริญเติบโตมีผลยับยั้งการสร้าง GAS ในพืช ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้ยับยั้งการแทงช่อดอกของผักกาดหอมได้ การทดลองใช้ chlormequat ความเข้มข้น 4,000 ถึง 12,000 มก/ ล และ daminoade 4,000 ถึง 6,000 มก/ ล พ่นต้นผักกาดหอมใบ จะช่วย ป้องกันการแทงช่อดอกได้ถ้าให้สารซํ้า 1-2 ครั้ง ถ้าใช้สารความเข้มข้นสูงจะทำให้ต้นชะงักการเติบโต มีขนาดเล็กเกินไปซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ถ้าใช้สารความเข้มข้นตํ่าจะช่วยลดการแทงช่อได้ ในขณะที่ขนาดต้นและคุณภาพของผลิตผลยังอยู่ในขั้นยอมรับของตลาดได้

พริก (Capsicum annuum L.)
เร่งการแก่และสุก
การใช้ ethephon อัตรา 130 ถึง 180 กรัมต่อไร่ ผสมน้ำ 70 ถึง 180 ลิตร (ความเข้มข้น 1,000 ถึง 2,000 มก/ล) พ่นให้ทั่วต้นจะกระตุ้นให้ผลแก่ เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น และมีสีสม่ำเสมอมากขึ้น ในกรณีที่อุณหภูมิสูงในขณะใช้สารควรใช้ความเข้มข้นตํ่า และถ้าอุณหภูมิตํ่าหรือต้นมีความแข็งแรงมากและมีใบหนาแน่น ควรใช้ความเข้มข้นสูง ถ้าเป็นพริกยักษ์ หรือพริกหวาน ควรให้สารเมื่อผลในต้นประมาณ 10% เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีช็อกโกเลต ถ้าเป็นพริกชนิดอื่นควรรอให้สารเมื่อผลในต้นประมาณ 10-30% เริ่มเปลี่ยนสี

มะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum Mill.)
ลดการเติบโตทางกิ่งใบ
การใช้ daminozide อัตรา 96 ถึง 534 กรัมต่อไร่ (หรือความเข้มข้นประมาณ 1,000 ถึง 5,000 มก/ล) ผสมนํ้าแล้วพ่นต้นกล้ามะเขือเทศจนชุ่มภายหลังการย้ายปลูก จะช่วยชะลอการปิดตัวของลำต้น

การปฏิบัติดังกล่าวแนะนำให้ใช้เพื่อลดการเจริญทางกิ่งก้าน ชะลอการติดผลในระยะแรกเพื่อให้ติดผลและแก่พร้อมๆ กันเมื่อได้อายุเหมาะสม การให้สารอาจให้ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกให้เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 1-4 ใบ และครั้งที่ 2 จะให้หลังจากครั้งแรก 2 สัปดาห์ การให้สารนี้ยังมีผลเพิ่มความทนทานต่อการย้ายปลูกอีกด้วย โดยทำให้อัตราการตายของต้นกล้าลดลง

เพิ่มขนาดและความสม่ำเสมอของผล
การใช้ daminozide อัตรา 90 กรัมต่อไร่ (ใช้สารผสมน้ำประมาณ 144ลิตร หรือความเข้มข้นประมาณ 625 มก/ล) พ่นให้ทางใบในช่วงเริ่มการติดผล เพื่อช่วยกระตุ้นการพัฒนาของผลและทำให้ผลมีความสมํ่าเสมอมากขึ้น

การปฏิบัติดังกล่าวแนะนำให้ใช้เพียงครั้งเดียวเมื่อมีการติดผลบนต้นแล้ว 15-30 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องไม่มีผลที่เริ่มเปลี่ยนสีแล้วอยู่บนต้น ควรเก็บเกี่ยวผลภายหลังการให้สารเเล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อป้องกันพิษตกค้างของสารมะเขือเทศที่ได้รับสารจะมีขนาดโตขึ้น ทำให้ได้ผลเกรด 1 ต่อพื้นที่มากขึ้น

เพิ่มการติดผล
การใช้สารละลาย 4-CPA ความเข้มข้น 50 มก/ล พ่นเป็นฝอยละเอียดไปที่ช่อดอก ในขณะที่ดอกบานแล้วจะช่วยเพิ่มการติดผลในสายพันธุ์ที่มีการออกดอกแบบทะยอย ( i n- determinate varieties)

การใช้สารดังกล่าวเหมาะสำหรับต้นมะเขือเทศที่ออกดอกในขณะที่อุณหภูมิตํ่าเกินไปซึ่งมักจะติดผลได้ยาก ควรให้สารห่างกัน 10-15 วันต่อครั้ง แต่ไม่ควรพ่นซํ้าช่อเดิมเพราะจะทำให้ช่อร่วงได้ และไม่ควรพ่นสารซํ้าต้นเดิมเกิน 5 ครั้ง

การใช้สารละลาย 2-NOA ความเข้มข้น 40 ถึง 60 มก/ล พ่นทั่วทั้งต้นจะช่วยเพิ่มการติดผล

ควรพ่นสารละลายให้ทั่วทั้งต้นในระยะดอกบานแต่ไม่ควรให้สารมากกว่า 3 ครั้งและไม่ควรให้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน เคยมีการทดลองในประเทศไทยโดยการใช้สาร 2-NOA ความเข้มข้น 80 มก/ ล พ่นช่อดอกมะเขือเทศ ซึ่งปลูกนอกฤดู พันธุ์ Multibrid เมื่อดอกแรกเริ่มบานจะช่วยเพิ่มการติดผลและเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ และถ้าใช้สารดังกล่าวผสมกับนํ้าตาลทราย 1% ร่วมกับปุ๋ยใบ พ่น 10 ครั้ง ห่างกันครั้งละสัปดาห์พบว่าการติดผลและผลผลิตจะมากขึ้นจนเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวไม่น่าทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก

เร่งการแก่และการสุกของผล
การใช้ ethephon อัตรา 160 ถึง 320 กรัมต่อไร่ (ผสมน้ำ 160 ลิตรต่อไร่ หรือความเข้มข้นประมาณ 1,000 ถึง 2,000 มก/ล) พ่นต้นมะเขือเทศให้เปียกทั่วใบและผล จะช่วยเร่งการแก่และการสุกของผลให้สมํ่าเสมอกันได้ ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการให้สาร คือ เมื่อผลในต้นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง 5-10% ของผลทั้งหมด การใช้สารในขณะที่อุณหภูมิสูงกว่า 32°ซ อาจทำให้ใบเหลืองและร่วงได้ จึงควรลดความเข้มข้นให้ตํ่าลง โดยปกติแล้วจะเก็บเกี่ยวผลได้ภายหลังให้สารประมาณ 2-3 สัปดาห์ มะเขือเทศบางพันธุ์อาจเกิดอาการแพ้สาร คือจะมีใบร่วงอย่างมาก ดังนั้นก่อนการใช้จริงๆ ควรทดลองแต่เพียงเล็กน้อยก่อน

มะเขือยาวหรือมะเขือม่วง (Solarium melongena L.)
เพิ่มการติดผล
การใช้ 4-CPA ความเข้มข้น 20 มก/ล หรือ 2,4-D ความเข้มข้น 2.5 มก/ล ผสมยาจับใบพ่นไปที่ช่อดอกโดยตรง จะช่วยเพิ่มการติดผลได้ การให้สารควรทำเมื่อดอกในต้นบานได้ 2-3 ดอกแล้ว สารเหล่านี้มีผลทำให้เกิดการติดผลโดยไม่มีเมล็ดและไม่จำเป็นต้องมีการถ่ายละอองเกสร

มันฝรั่ง (Solarium tuberosum L.)
ยับยั้งการงอกของหัว
การใช้ maleic hydrazide อัตราประมาณ 857 กรัมท่อไร่ (โดยผสมน้ำประมาณ 45 ถึง 225 ลิตรต่อไร่ ซึ่งจะได้ความเข้มข้นประมาณ 3,800 ถึง 19,000 มก/ล) พ่นให้ทั่วทั่งต้น ก่อนการเก็บเกี่ยว จะช่วยยับยั้งการงอกของหัวระหว่างการเก็บรักษาได้ช่วงที่เหมาะสมในการให้สารคือ เมื่อใบล่างเริ่มเหลือง หรือประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยว ข้อสำคัญในการใช้ maleic hydrazide กับมันฝรั่งคือ ห้ามใช้กับต้นที่จะใช้หัวขยายพันธุ์ต่อ การใช้สารให้ได้ผลดีต้องไม่มีฝนตกภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังการให้สาร

กระตุ้นการงอกของหัว
GA3 ความเข้มข้น 0.05 ถึง 5 มก/ล กระตุ้นการงอกของหัวมันฝรั่ง วิธีการใช้คือ จุ่มหัวลงในสารละลาย GA3 เป็นเวลา 10 นาทีก่อนนำไปปลูก ในกรณีที่ตัดแบ่งหัวออกเป็นชิ้น ควรใช้ GA3 ความเข้มข้นตํ่ากว่าการจุ่มทั้งหัว การใช้สารควรทำกับหัวมันฝรั่งซึ่งขุดขึ้นมาใหม่ๆ เนื่องจากยังไม่เข้าสู่การพักตัวเต็มที่ จึงงอกได้ดีเมื่อมีการให้สาร นอกจากนี้การใช้ GA3 ความเข้มข้น 10 มก/ล พ่นต้นมันฝรั่งก่อนเก็บเกี่ยว 1-2 สัปดาห์จะช่วยกระตุ้นการงอกของหัวได้เช่นกัน

สารอื่นนอกจาก GA3 ก็สามารถกระตุ้นการงอกของหัวมันฝรั่ง เช่น 2-chloroethanol ใช้ได้ผลดีมากในการกระตุ้นการงอกของหัวมันฝรั่งหลายพันธุ์ โดยการจุ่มหัวในสาร หรือรมด้วยสารนี้ (2-chIoroethanol เป็นสารระเหยได้) หัวมันจะงอกได้ภายใน 7 วันภายหลัง การให้สาร ปัญหาสำคัญของการใช้สาร 2-chloroethanol คือ สารนี้มีพิษสูงมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ง่ายและอีกประการหนึ่งคือหาซื้อได้ยาก สารในกลุ่มไซโตไคนินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง BAP ก็มีการกระตุ้นการงอกของหัวได้ดีกว่าการใช้ GA3 โดยการใช้ BAP ความเข้มข้น 20 ถึง 100 มก/ ล แช่หัวมันทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แต่สาร BAP ยังไม่มีจำหน่ายในรูป สารเคมีการเกษตร นอกจากในรูปเคมีภัณฑ์ซึ่งมีราคาสูง

แรดิช (Raphanus sativus L.)
เพิ่มผลผลิต
แรดิชเป็นผักกาดหัวชนิดหนึ่ง ซึ่งปลูกได้ดีในประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอากาศเย็นมากนัก สารชะลอการเจริญเติบโตเช่น daminozide มีผลช่วยในการลงหัวและเพิ่มผลผลิตเช่นเดียวกับแครอท จากรายงานการทดลองพบว่า daminozide ความเข้มข้น 8,000 มก/ ล พ่นต้นแรดิชพันธุ์ Cherry Belle เมื่อมีอายุประมาณ 10 วัน พบว่าผลผลิต (น้ำหนักราก) เพิ่มขึ้นประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ นอกจาก daminozide จะช่วยเพิ่มผลผลิตของแรดิชแล้ว ยังมีผลป้องกันการแทงช่อดอกได้ด้วย

หอมหัวใหญ่ (Allium cepa L.)
ยับยั้งการงอกของหัว
การใช้ maleic hydrazide อัตรา 500 ถึง 650 กรัมต่อไร่ผสมนํ้า 90 ถึง 110 ลิตร (ความเข้มข้นประมาณ 5,000-6,000 มก/ล) พ่นให้ทั่วต้นในระยะที่ใบเริ่มแก่จัดหรือเริ่มล้มจะช่วยป้องกันการงอกของหัวภายหลังการเก็บเกี่ยวได้ การให้สารควรใช้เครื่องพ่นแรงดันสูง (ประมาณ 70 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) โดยให้เมื่อใบเริ่มแห้งและควรใช้กับต้นที่สมบูรณ์ดีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การดูดซึมสารเป็นไปได้ดี ข้อสำคัญคือต้องไม่มีฝนตกภายใน 24 ชั่วโมงหลังการให้สาร และไม่ควรเก็บเกี่ยวหัวภายใน 4 วันหลังการให้สารเนื่องจากการดูดซึมสารเข้าไปสะสมในหัวยังเกิดขึ้นไม่เต็มที่ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งการงอกลดลง ถ้าต้องการเก็บรักษาหัวไว้นานโดยไม่งอกก็อาจต้องใช้สารความเข้มข้นสูงขึ้น แต่ถ้าเก็บรักษาในช่วงเวลาสั้นอาจลดความเข้มข้นลงได้อีก

เห็ด (Mushrooms)
เร่งการเติบโตของเส้นใยและเพิ่มผลผลิต
การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดหูหนูบนอาหารวุ้นที่ผสม NAA 10 มก/ล หรือ GA3 10 มก/ ล จะช่วยให้เส้นใยเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น และการใช้ BAP 10 มก/ 6 ผสมในขี้เลื่อยสำหรับเพาะเห็ดหูหนูมีแนวโน้มทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดนางรมบนอาหารวุ้นเช่นกันซึ่งผสม NAA, GA3 หรือ BAP ความเข้มข้น 1 ถึง 100 มก/ ล ไม่ช่วยให้การเติบโตของเส้นใยดีขึ้น แต่ถ้าใช้ผสมในขี้เลื่อยซึ่งใช้เลี้ยงเส้นใยต่อจากการเพาะในอาหารวุ้นจะช่วยเร่งให้เส้นใยเจริญเต็มถุงได้เร็ว และทำให้จำนวนดอกและนํ้าหนักเห็ดสดเพิ่มมากขึ้น

ที่มา:พีรเดช ทองอำไพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น