จอก (chok) (ไทย) ก๋ากอก ผักกอก (พายัพ)

จอก (chok) (ไทย) ก๋ากอก ผักกอก (พายัพ)
เป็นพืชลอยน้ำ มีอายุข้ามปี (perennial) ใบเป็นกระจุกลอยอยู่เหนือน้ำ บางครั้งอาจมีไหล (stolon) ยาวประมาณ 2-5 ซม. ต้นใหม่เกิดขึ้นทั้งบนไหล และโคนของต้น มีรากฝอยเป็นจำนวนมาก เป็นพืชที่มีระบบรากแก้ว
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกที่โคนของต้น ไม่มีก้านใบ ลักษณะใบไม่แน่นอน อาจเป็นรูปไข่กลับรูปช้อน หรือรูปคล้ายลิ้น ตั้งตรงขึ้น ยาว 1-8 ซม. กว้าง 1-5 ซม. โคนใบมัน หรือสอบแคบเข้ามา ขอบใบเรียบและเป็นสีแดง ปลายใบอาจหยักเว้าเล็กน้อย หรือหยักเว้าเป็นพูตื้นๆ มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน โดยเฉพาะที่โคนใบจะมีขนยาวกว่าส่วนอื่น ด้านล่างของใบที่ใกล้โคนใบจะพองออก และนุ่มคล้ายฟองน้ำ
ดอก เป็นช่อ(spadix) ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกจะมีแผ่นสีเขียวอ่อนเกือบขาว (spathes) หุ้มไว้ ยาว 7-9 มม. กว้าง 3-5 มม. ปลายแหลม มีขนละเอียดปกคลุมอยู่ด้านนอก ด้านในเรียบ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอย่างละ 1 ดอก แต่ละดอก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกตัวผู้จะติดอยู่ด้านบน มีก้านดอกสั้น ที่โคนของก้านดอกตัวผู้จะมีระยางค์เป็นแผ่นสีเขียว เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 4-8 อัน ก้านสั้นมาก อับละอองเรณูค่อนข้างกลม และหยักเว้าเป็นพู 4 พู ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่าง มีระยางค์เป็นแผ่นสีเขียวติดอยู่เหนือรังไข่เล็กน้อย รังไข่ 1 อัน ซึ่งอยู่เหนือฐานดอก รังไข่มี 1 ช่อง (carpel) ท่อรังไข่สั้นมาก ส่วนของดอกทั้งหมด มีขนาดเล็กมาก
ผล (baccate) มีกาบซึ่งเป็นสีเขียวอ่อน (bract) ติดอยู่ ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีรูปยาวเรียวลงสู่ฐานปลายมีลักษณะคล้ายถูกตัด มีสีนํ้าตาลอ่อน ยาว 1.5-2 มม.
ขยายพันธุ์ด้วยไหล หรือแตกต้นอ่อนตามใบ รวมทั้งอาศัยเมล็ด พบในนาข้าว ทางระบายน้ำ คลอง และที่นํ้าขังโดยทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น