สาหร่ายอัดเม็ด


จุดประสงค์ของการนำสาหร่ายอัดเม็ดมาใช้เป็นอาหารเริ่มเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งขององค์การนานาชาติ ซึ่งเล็งเห็นว่าถ้าอัตราการเพิ่มขึ้นของพลโลกเป็นไปในลักษณะปัจจุบัน อาหารในโลกจะผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงจำเป็นต้องหาแหล่งอาหารแหล่งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งค่อนข้างจะขาดแคลน และได้ผลสรุปว่าสาหร่ายเป็นพืชที่น่าสนใจ เพาะเลี้ยงง่าย สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารเองได้ เติบโตเร็ว และมีองค์ประกอบของโปรตีนสูง จึงเริ่มศึกษาลงในรายละเอียดเกี่ยวกับสาหร่ายจนกระทั่งสามารถคัดเลือกชนิดสายพันธุ์ของสาหร่ายที่มีศักยภาพในการนำมาเป็นอาหารโปรตีนแหล่งใหม่ของมนุษย์ เช่น สาหร่าย คลอเรลลา (CHLORELLA) ซีนเดสมุส (SCENEDESMUS) สไปรูลิน่า (SPIRULINA) หรือสาหร่ายเกลียวทอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การวิจัยที่จะนำเอาสาหร่ายมาใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากสัตว์ก็ประสบปัญหาทำให้การวิจัยต้องหยุดลงชั่วคราว ปัญหาสำคัญที่คณะผู้วิจัยประสบ ก็คือ
1. ต้นทุนการผลิตสูง แม้ว่าในครั้งแรกเมื่อพิจารณาจะนำเอาสาหร่ายมาใช้ประโยชน์นั้น ได้พิจารณาเห็นว่าสารอาหารที่จะนำมาเลี้ยงสาหร่ายนั้นสามารถหาได้ง่าย เช่น ของเสียจากโรงงานผลิตอาหารต่างๆ โดยที่กระบวนการทิ้งของเสียเหล่านี้จะมีการขจัดของเสียที่อยู่ในนํ้าทิ้งเสียก่อน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะมีสารอาหารที่เหมาะสมกับการเลี้ยงสาหร่าย แต่สาหร่ายที่เลี้ยงด้วยนํ้าทิ้งของโรงงานนี้ก็ยังไม่เหมาะสมกับการจะนำมาเป็นอาหารของมนุษย์ เพียงแต่สามารถนำไปทำปุ๋ยหรือเลี้ยงสัตว์บางชนิดได้ แต่ถ้าต้องการผลิตสาหร่ายสำหรับมนุษย์บริโภคแล้ว ต้องใช้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง จึงไม่น่าที่จะคุ้มทุนที่จะทำการผลิตเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์และโปรตีนจากพืชจำพวกถั่ว
2. การยอมรับสาหร่ายในฐานะเป็นอาหารของมนุษย์ ปัญหาที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนในหลายประเทศยอมรับสาหร่ายเป็นอาหารก็คือ ปัญหาความปลอดภัยจากสิ่งตกค้างในสาหร่าย กลุ่มสารพิษที่ถูกพิจารณามากที่สุดก็คือ โลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว และสารประเภทโพลีไซคลิก อะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน (ในกรณีที่ใช้ของเสียจากโรงงานปิโตรเคมีเป็นอาหารเลี้ยงสาหร่าย) สารเคมีกลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่เกิดในอาหารปิ้งและย่างไฟแรงๆ นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีสารฆ่าแมลงปนเปื้อนในนํ้า เป็นต้น สำหรับปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ร่างกายมนุษย์ย่อยสลายสาหร่ายทะเลลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นผนังของเซลล์ จึงนับเป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งที่จะนำสาหร่ายมาเป็นอาหารของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการผลิตสาหร่ายอัดเม็ดเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นครั้งหนึ่ง โดยเริ่มจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนอยู่ดีกินดี เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป เป็นต้น ประชาชนเริ่มคำนึงถึงการกินเพื่อสุขภาพ โดยเหตุผลที่ว่าอาหารที่ผลิตตามกระบวนการอุตสาหกรรมแบบใหม่นั้นมีการใส่สารเคมีลงไปมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งสารเคมีที่ช่วยในการผลิต เช่น สารที่ทำให้เกิดความเป็นกรดเป็นด่าง สารควบคุมสีอาหาร สารช่วยในการรักษาความกรอบเหนียว ตลอดจนสารเคมีที่ช่วยให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น และสีผสมอาหาร ประชาชนเหล่านี้หันไปเชื่อว่าอาหารที่กินเข้าไปแล้วทำให้สุขภาพดีขึ้นนั้น คืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปน
ชนิดของสาหร่ายอัดเม็ดที่มีจำหน่ายในประเทศไทยทำมาจากสาหร่าย 2 ชนิด คือ คลอเรลลา และสไปรูลินา ซึ่งคลอเรลลานั้นเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปมาจำหน่ายในประเทศ แต่สไปรูลินานั้นสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ
สาหร่ายคลอเรลลานั้นผลิตมากในประเทศญี่ปุ่น และมีจำหน่ายแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม ไนจีเรีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมันตะวันตก เกาหลีใต้ แคนาดา และฝรั่งเศส การเลี้ยงสาหร่ายคลอเรลลาเพื่อผลิตสาหร่ายอัดเม็ดนั้นมีการผลิตขนาดใหญ่โตมาก อุปกรณ์การผลิตทันสมัย โดยการเลี้ยงสาหร่ายในอาคารเลี้ยงที่ใช้นํ้าสะอาดร่วมกับสารเคมีที่มีคุณภาพสูง หลังจากนั้นเก็บสาหร่ายขึ้นมาทำให้แห้งแล้วสลายผนังเซลล์ของสาหร่ายเพื่อช่วยระบบการย่อยในร่างกายมนุษย์ให้ย่อยสลายได้ดีขึ้น ขั้นตอนต่อไป คือ ตอกเม็ดบรรจุชองขาย ซึ่งอาจจะมีการผสมเลซิธิน หรือทำเป็นนํ้าเชื่อม โดยผสมกับนํ้าผึ้ง ปัจจุบันสาหร่ายประเภทนี้ได้รับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี จากหน่วยงานของราชการทั้งของไทยและต่างประเทศแล้ว ในกรณีของประเทศไทย พบว่าสาหร่ายอัดเม็ดที่นำเข้าตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 69 เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่ส่งผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย คือ YSK INTERNATIONAL CORP. CO., LTD.
สาหร่ายคลอเรลลามีผนังเซลล์ที่แข็งแกร่งทำให้เป็นปัญหาในการย่อย อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2520 เริ่มมีการใช้คลอเรลลาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการค้นพบวิธีแตกผนังเซลล์ (DYNO-MILL) ซึ่งวิธีการนี้สามารถแตกผนังเซลล์ได้ถึงร้อยละ 95 ซึ่งผนังเซลล์มีคุณลักษณะพิเศษช่วยขจัดสารไฮโดรคาร์บอนและสารโลหะที่เป็นพิษออกจากร่างกาย รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคด้วยคลอเรลลาเป็น อาหารเสริมที่มีจำหน่ายมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ประมาณถึงปีละ 1,000 ตัน
จากผลการวิจัยทดลองพบว่า คลอเรลลามีส่วนประกอบที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ 4 อย่าง ได้แก่ คลอโรฟิลล์ ผนังเซลล์ วิตามินเอในรูปของเบต้า-คาโรทีน (BETA-CAROTENE) และ CGF (CHLORELLA GROWTH FACTOR) ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุหลายๆ ประการ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นตัวปรับสภาพที่ยิ่งใหญ่ เพราะช่วยให้การทำงานของร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติ
สาหร่ายคลอเรลลาที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดมีหลายลักษณะ คือ เม็ดขนาดเล็ก ชนิดผง และชนิดน้ำ จำนวนรับประทานแล้วแต่จุดประสงค์ เริ่มตั้งแต่ 1-30 เม็ดต่อ 1 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วถ้าเป็นการรับประทานเพื่อปัองกันโรคหรือเพื่อคงสุขภาพที่ดีไว้จะรับประทานครั้งละ 5 เม็ดภายหลังอาหาร หรือระหว่างอาหารแต่ละมื้อ (15-20 เม็ดต่อวัน) โดยปกติผู้รับประทานสาหร่ายคลอเรลลาอัดเม็ดจะเห็นผลหลังจากรับประทานไปแล้วเป็นระยะเวลา 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ผลที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาเมื่อมีการรับประทานคลอเรลลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในระยะแรกอาจพบว่า
1. อาจมีการผายลมเนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ดีขึ้น อาการนี้อาจหายไปเมื่อลำไส้สะอาดขึ้น
2. การบีบตัวอย่างผิดปกติของลำไส้ อาการคลื่นไส้ หรือมีไข้ตํ่าๆ อาจจะพบเห็นได้ในคนจำนวนมากที่บริโภค อาการเหล่านี้มักจะหายไปใน 2-3 วัน แต่บางคนอาจใช้เวลาถึง 10 วัน จึงจะเป็นปกติ อาการดังกล่าวมักจะพบกับผู้ที่มีลำไส้ไม่แข็งแรงและมีสารพิษในร่างกาย
3. บางครั้งอาการแพ้จะปรากฏในรูปของตุ่ม ผื่น หัวฝี หรือแผลเปื่อย บางราย อาจจะมีอาการคันปรากฏอยู่ด้วย อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้แสดงว่าร่างกายกำลังปรับตัวเองให้ชินกับคลอเรลลา และกำลังขจัดสารพิษออกไป
แต่ถ้าอาการแพ้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคควรหยุดรับประทานคลอเรลลา 2-3 วัน แล้วจึงพยายามลองรับประทานใหม่ และถ้ารับประทาน 1-3 เม็ด แล้วยังเกิดปัญหา แสดงว่าเป็นคนแพ้ยาง่าย จึงควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำว่าควรจะรับประทานต่อดีหรือไม่
สาหร่ายอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพที่ดีมากในการนำมาทำเป็นสาหร่ายอัดเม็ด คือ สาหร่ายเกลียวทอง สำหรับในประเทศไทย หน่วยราชการที่สนับสนุนการวิจัยโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง ได้แก่ สถาบันประมงนํ้าจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งสองหน่วยงานแรกรับผิดชอบด้านการพัฒนา ส่วนหน่วยงานหลังทำหน้าที่ค่อนไปทางการส่งเสริมหาตลาดและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เอกชน
สาหร่ายเกลียวทองเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมนํ้าเงินประเภทหลายเซลล์ ขนาดของเซลล์มีความกว้างเพียง 3-5 ไมครอน (1 ไมครอน = 1 ส่วนพันมิลลิเมตร) เซลล์แต่ละเซลล์จะเรียงกันเป็นสาย สั้นบ้าง ยาวบ้าง ขึ้นกับอายุและความสมบูรณ์ ลักษณะของเซลล์จะบิดเป็นเกลียวคล้ายเกลียวของลวดสปริง หรือหยักบ้างเล็กน้อยแล้วแต่ชนิด ซึ่งสาหร่าย เกลียวทองเท่าที่พบในปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 30 ชนิด แต่ชนิดที่มีการทดลองวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์กันมาก คือ SPIRULINA PLATENSIS ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นำมาจากประเทศชาดและเอธิโอเปียในทวีปแอฟริกา และ SPIRULINA MAXIMA จากประเทศเม็กซิโก สำหรับในประเทศไทยพบว่ามีสาหร่ายเกลียวทองอยู่หลายพันธุ์เช่นเดียวกัน ซึ่งกรมประมงนํ้าจืด แห่งชาติกำลังทำการรวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้อยู่
สาหร่ายเกลียวทองได้ใช้เป็นอาหารมนุษย์มาช้านานแล้ว มีหลักฐานย้อนหลังไปว่า อาจเป็นอาหารหลักที่สำคัญของชนเผ่ามายาที่เจริญรุ่งเรืองในทวีปอเมริกากลางเมื่อหลายพันปีก่อน ชนเผ่าแอฟริกาที่อยู่ใกล้ทะเลสาบที่มีสาหร่ายเกลียวทองขึ้นอยู่หนาแน่นตามธรรมชาติ ซึ่งยังใช้สาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารหลักประจำวันในปัจจุบัน ทั้งในรูปของอาหารคาวและอาหารหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารชื่อ ไคฮี ของชาวพื้นเมืองแอฟริกาที่เป็นแหล่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักถึงคุณค่าทางอาหารของสาหร่ายเกลียวทอง โดยมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบอยู่ถึงประมาณร้อยละ 70 ของน้ำหนักแห้ง และเมื่อได้มีการวิจัยต่อไปก็พบว่า โปรตีนเหล่านี้เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ วิตามินที่สำคัญคือโปรวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารเร่งสี เมื่อผสมในอาหารปลาจะทำให้ปลามีสีสวย ในประเทศญี่ปุ่นใช้ผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ป ถ้านำไปผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ปีกก็จะทำให้ไข่แดงมีสีแดงสวยงาม ปัจจุบันวงการอุตสาหกรรมอาหารตื่นตัวที่จะพัฒนาเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ส่งสาหร่ายเกลียวทองเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และอิสราเอล ทั้งในรูปอาหารเสริมสำหรับมนุษย์ ซึ่งทำเป็นผงหรือเป็นรูปเม็ดคล้ายยา หรือผสมในอาหารอื่น เช่น ผสมในเส้นสปาเก็ตตี้หรือในขนมสำหรับเด็ก หรือทำเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารปลาและอาหารลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน
ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่รู้ถึงความสมบูรณ์ด้วยคุณค่าทางอาหารของสาหร่ายเกลียวทอง และริเริ่มที่จะผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปในระดับอุตสาหกรรม ตั้งแต่ ปี 2506 ศาสตราจารย์คลีเมนต์แห่งสถาบันวิจัยนํ้ามันแห่งชาติฝรั่งเศส (THE FRENCH NATIONAL OIL RESEARCH INSTITUTE) เป็นผู้นำในการค้นคว้าคุณค่าทางอาหารของ
สาหร่ายเกลียวทอง และได้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพื่อนำไปใช้ขยายพันธุ์สาหร่ายเกลียวทอง โดยนำเชื้อมาจากประเทศชาด สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายเกลียวทองในญี่ปุ่นเริ่มต้นในปี 2511 เป้าหมายในการทำวิจัยคือ จะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยได้รับความช่วยเหลือจากด็อกเตอร์คริสโตเฟอร์ ฮีลลส์ แห่งสหพันธ์สาหร่ายขนาดเล็กนานาชาติ (MICROALGAE INTERNATIONAL UNION) หลังจากดำเนินงานได้ 2 ปี ก็โอนกิจการงานวิจัยให้กับบริษัท เกรทเตอร์ เจแปน เคมิคัลอิงค์ อินดัสตรีอินซ์ จำกัด หรือ GIC บริษัทนี้ประสบผลสำเร็จในการผลิตสาหร่ายเกลียวทองในระดับอุตสาหกรรมในลักษณะการเพาะเลี้ยงเชื้อพันธุ์เดี่ยว แล้วจึงนำมาขยายเป็นการเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่เพื่อผลิตสาหร่ายอัดเม็ด
สำหรับประเทศไทย สถาบันประมงนํ้าจืดแห่งชาติได้ริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายเกลียวทองมาตั้งแต่ปี 2525 โดยกรมประมงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสาะแสวงหาแหล่งโปรตีนแหล่งใหม่ๆ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็น ปัญหาด้านกสิกรรมอยู่หลายสิบล้านไร่ สถาบันประมงนํ้าจืดพบว่าสาหร่ายเกลียวทองนั้น นอกจากจะขึ้นได้ในนํ้าที่มีความเป็นด่างสูงแล้ว ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในนํ้าที่มีความเค็มสูง และมีการค้นพบสาหร่ายพันธุ์พื้นเมืองในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ดังนั้น สถาบันประมงนํ้าจืดแห่งชาติจึงเสนอโครงการทำวิจัยเกี่ยวกับการ เพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนนในรูปทุนแบบให้เปล่าจำนวน 94,000 ดอลลาร์ สหรัฐฯ ในปี 2526
สถาบันประมงนํ้าจืดแห่งชาติได้ทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาแนวทางที่จะสามารถนำเอาสาหร่ายเกลียวทองไปเพาะเลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การศึกษาหาทางลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยที่หาได้ในท้องถิ่น ปุ๋ยจากบ่อหมัก ก๊าซชีวภาพ ศึกษาวิธีการเลี้ยงที่ลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง ศึกษาหาแนวทางที่จะทำการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไว้โดยไม่เสื่อมคุณภาพ และศึกษาการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนพยายามสำรวจและคัดพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ ซึ่งโครงการสำรวจคัดเลือกพันธุ์พื้นเมืองนี้ได้ขออนุมัติทุนแบบให้เปล่าจากยูเสดเป็นเงิน 148,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2530-2531 ได้ดำเนินการสำรวจหาเชื้อพันธุ์พื้นเมืองของสาหร่ายเกลียวทองในประเทศไทย แล้วนำเอามาแยกเชื้อและทำการเพาะเลี้ยงแบบพันธุ์เดี่ยว ขยายปริมาณและวิเคราะห์ผลการทดลองและผลิตภัณฑ์ในเชิงวิชาการเพื่อหาพันธุ์ที่ดีที่สุดไว้ใช้ในราชการ และในปี 2532 ที่ผ่านมานำเอาเชื้อพันธุ์ที่คัดเลือกแล้วไปทดลองเลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลักษณะรูปแบบพื้นบ้าน กล่าวคือ เป็นการเพาะเลี้ยงในบ่อดิน หรือบ่อดินปูด้วยพลาสติก ใช้ปุ๋ยพื้นบ้านและใช้พลังงานธรรมชาติ หรือกำลังคนในการผลิต จนกระทั่งได้รูปแบบที่แน่นอนแล้วจึงนำออกเผยแพร่ ซึ่งปัจจุบันด้วยกำลังบุคลากรและอุปกรณ์ที่มีอยู่ สถาบันประมงนํ้าจืดแห่งชาติสามารถผลิตสาหร่ายเกลียวทองได้สัปดาห์ละประมาณ 3 กิโลกรัม (นํ้าหนักแห้ง)
ส่วนบริษัทเอกชนที่ดำเนินการผลิตสาหร่ายอัดเม็ดในประเทศในปัจจุบันนี้ก็คือ บริษัทสยามแอลจี จำกัด เริ่มทำการผลิตมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2519 ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กำลังการผลิตปีละ 100 ตัน ผลผลิตที่ได้ทำการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพเหมาะสมที่จะสร้างสถานที่เพาะเลี้ยงและผลิตสาหร่ายเกลียวทอง
คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายคลอเรลลาและเกลียวทอง
ผลจากการศึกษาคุณค่าทางอาหารของคลอเรลลาพบว่า ประมาณร้อยละ 60 ของคลอเรลลาจะเป็นโปรตีน และร้อยละ 20 เป็นไขมันและคารโบไฮเดรต โปรตีนในคลอเรลลาประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด เมื่อเปรียบเทียบโปรตีนในคลอเรลลากับโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์จะพบว่า โปรตีนในคลอเรลลามีสารเมไธโอนีนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง กลับจะเป็นผลดี เพราะมะเร็งจะเจริญเติบโตได้ดีด้วยสารเมไธโอนีน วิตามินที่พบในคลอเรลลามีมากมายหลายชนิด เช่น วิตามินซี โปรวิตามินเอ ไธอามีน ไรโบฟลาวิน ไนอาซิน เป็นต้น เกลือแร่ที่มี ได้แก่ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก แคลเซียม แมงกานีส ทองแดง สังกะสี และโคบอลต์ เนื่องจากคลอเรลลาอุดมไปด้วยสารอาหารมากมายจึงเหมาะสำหรับเป็นแหล่งอาหารสำหรับประเทศโลกที่สามที่กำลังอดอยาก ส่วนในประเทศที่เจริญแล้ว คลอเรลลาก็สามารถใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ควบคุมนํ้าหนักได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์คลอเรลลาที่มีอยู่ทั่วโลกขณะนี้มีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของคลอเรลลาและวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ยังแตกต่างกันที่ชนิดของผลิตภัณฑ์ที่บางบริษัทจะใช้สาหร่ายคลอเรลลาทั้งเซลล์ ในขณะที่อีกหลายบริษัทใช้ผนังเซลล์ที่แตกตัวแล้วเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยสลายได้ดีขึ้น เนื่องจาก ร่างกายมีความสามารถที่จะย่อยแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นเซลล์คลอเรลลาที่สมบูรณ์ร่างกายจะสามารถย่อยสลายได้เพียงร้อยละ 47 ในขณะที่เซลล์ที่ถูกความร้อนและผ่านการฟอกขาว ร่างกายย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ส่วนเซลล์ที่แตกตัวแล้ว (DYN0- MILL) ร่างกายย่อยสลายได้สูงถึงร้อยละ 79.5
ผลิตภัณฑ์คลอเรลลาเริ่มมีจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2506 ในฮาวายและไต้หวันปี 2513 และในแคนาดาตั้งแต่ปี 2521 ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์คลอเรลลา ทั่วโลกในระหว่างปี 2517-2520 มากกว่า 500 เมตริกตัน/ปี ในปัจจุบันมีการผลิตผลิตภัณฑ์คลอเรลลาออกมาจำหน่ายกว่า 1,000 ตัน และมีผู้บริโภคคลอเรลลาทั่วโลกประมาณวันละ 3 ล้านบาท
สำหรับวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายเกลียวทองพบว่าในส่านที่บริโภคได้ 100 กรัม จะประกอบด้วย
-โปรตีน 55-65%
-คาร์โบไฮเดรต 10-15%
-ไขมัน 2-6%
-เถ้า 5-12%
-ไฟเบอร์ 1-4%
ความชื้น 5-10%
อย่างไรก็ตาม คุณค่าทางอาหารดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเลี้ยงปริมาณปุ๋ยที่ใช้ อุณหภูมิ และแสงในสถานที่เพาะเลี้ยงสาหร่าย นอกจากนี้ยังได้มีการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายเกลียวทองเปรียบเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ ทั้งในแง่ขององค์ประกอบสารอินทรีย์ ปริมาณโปรตีน ปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายและปริมาณสารให์สี และการดูดซึมของสารนี้

การเปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารชนิดอื่นกับคลอเรลลา




ที่มา: *japan Dairy Technical Association
**Medical Reference Library Nutrition& Vitamins

องค์ประกอบของสารอาหารในคลอเรลลา(60 กรัม)




ที่มา: บริษัท วิน วิน(ประเทศไทย) จำกัด

ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบสารอินทรีย์สาหร่ายเกลียวทอง




ที่มา: เจียมจิตต์ บุญสม ความลับของสาหร่ายเกลียวทอง ผลการรักษาโรคที่นายแพทย์ญี่ปุ่นค้นพบ แปลจาก “the Secrets of Spirulina Medical Discoveries of Japanese Doctors” งานแปลอันดับที่ 105 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2521 หน้า 48

สาหร่ายเกลียวทอง(แห้ง) เปรียบเทียบปริมาณโปรตีน




ที่มา:เจียมจิตต์ บุญสม

เปรียบเทียบปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นระหว่างสาหร่ายและอาหารอื่นๆ


ที่มา:เจียมจิตต์ บุญสม

สภาพการตลาด
ในช่วงปลายปี 2530 บริษัท วิน วิน (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าผลิตภัณฑ์คลอเรลลาจากประเทศญี่ปุ่นมาขายในตลาดในประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นอาหารเสริมสุขภาพในรูปแบบที่ทันสมัย แตกต่างไปจากรูปแบบที่คนไทยเคยบริโภคทั้งในรูปสดและสาหร่ายตากแห้งอัดเป็นแผ่น ดังนั้น ค่ายคลอเรลลาจึงต้องทำงานทางด้านการตลาดอย่างหนักที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ และให้การศึกษากับผู้บริโภคให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย โดยการเน้นให้เห็นว่าคลอเรลลาคือสาหร่ายเซลล์เดียวที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าสาหร่ายประเภทอื่นๆ แต่ยังไม่มีการนำเอาสาหร่ายคลอเรลลามาใช้ประโยชน์มากนัก เพราะคลอเรลลามีเกราะคุ้มกันเซลล์ที่แข็งมาก จนกระทั่งได้มีการคิดค้นกรรมวิธีสมัยใหม่ที่จะทำลายเกราะคุ้มกันเซลล์ ซึ่งเมื่อคลอเรลลาเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายจะสามารถดูดซับคุณประโยชน์ได้ถึงร้อยละ 80 ในขณะที่สาหร่ายอัดเม็ดยี่ห้ออื่นๆ ทำได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น และด้านคุณประโยชน์ก็มีมากนานัปการ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นอาหารเสริมมหัศจรรย์
สาหร่ายอัดเม็ดนับเป็นอาหารเสริมประเภทใหม่และมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาหารเสริมด้วยกัน แต่ก็นับได้ว่าค่ายคลอเรลลาสามารถจะฝ่าฟันอุปสรรคและทำให้ชื่อคลอเรลลาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยอาศัยเทคนิคการขายตรง และยํ้ากับพนักงานว่าคลอเรลลาไม่ใช่ยาวิเศษ แนะนำให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงคุณภาพของสาหร่ายคลอเรลลา และผู้แทนจำหน่ายควรจะต้องบริโภคเองด้วยจะขายได้ดีเมื่อรู้ว่าผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร
การค้าระหว่างประเทศ
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าสาหร่ายทะเลตากแห้งเพื่อบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากในปี 2528 ซึ่งมีปริมาณนำเข้า 17.24 ตัน มูลค่า 4.22 ล้านบาท เป็นปริมาณ 78.15 ตัน มูลค่า 26.39 ล้านบาท หรือทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว และ 5 เท่าตัว ตามลำดับ เดิมเคยนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะหลัง แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวเป็นการนำเข้าสาหร่ายทะเลตากแห้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ยังมีสาหร่ายทะเลส่วนหนึ่ง ที่ลักลอบนำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางชายแดนภาคใต้ ดังนั้น ความต้องการสาหร่ายนำเข้าจะสูงกว่านี้มาก สำหรับการนำเข้าวุ้นจากสาหร่าย (AGAR-AGAR) ก็มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าสาหร่ายทะเลตากแห้ง กล่าวคือ ในปี 2532 มีการนำเข้า 274.78 ตัน มูลค่า 129.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2528 ซึ่งมีการนำเข้าเพียง 234.13 ตัน มูลค่า 95.33 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 และ 35.7 ตามลำดับ แหล่งนำเข้าวุ้นจากสาหร่ายทะเลนั้นเดิมมีแหล่งนำเข้าสำคัญอยู่ 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นและชิลี แต่ภายหลังการนำเข้าจากญี่ปุ่นเริ่มลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับการส่งออกสาหร่ายทะเลตากแห้งเพื่อการบริโภคนั้น เมื่อเทียบกับการนำเข้าแล้วมีทั้งปริมาณและมูลค่ามากกว่า แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน โดยมีปริมาณส่งออก เฉลี่ย 100 ตัน มูลค่า 32 ล้านบาท ประเทศที่นำเข้าสาหร่ายทะเลจากไทยที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นลูกค้าประจำ ส่วนประเทศอื่นๆ มีการนำเข้าเพียงเล็กน้อย และการ นำเข้าไม่สมํ่าเสมอทุกปี ส่วนการส่งออกวุ้นจากสาหร่ายนั้นมีเพียง เล็กน้อยและมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2531 จากที่เคยมีการส่งออก 10 ตัน มูลค่า 2.3 ล้านบาท ในช่วงปี 2528-2530 เหลือเพียง 3 ตัน มูลค่า 0.82 ล้านบาท ในปี 2532 ประเทศที่นำเข้าวุ้นสาหร่ายจากไทยที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังคงมีการนำเขาอย่างสมํ่าเสมอ แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม
ข้อมูลจำเพาะรายบริษัท
-บริษัทวิน วิน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายสาหร่ายอัดเม็ด “ซันคลอเรลลา” นำเข้าจากญี่ปุ่น วางตลาดในปี 2531
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีอาหารเสริมสุขภาพที่สกัดจากสาหร่ายคลอเรลลาทั้งหมดหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีคำว่าคลอเรลลาอยู่ในชื่อยี่ห้อด้วย สำหรับซันคลอเรลลามีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 60 หรือมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท
กลยุทธ์การตลาดของบริษัทวิน วิน ใช้ระบบขายตรงโดยเน้นระบบการเป็นสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณกว่า 3,000 คน ศูนย์การจัดจำหน่ายในกรุงเทพฯ มี 7 ศูนย์ และกระจายอยู่ในต่างจังหวัดอีก 7 ศูนย์ ยอดขายประมาณเดือนละ 5-6 ล้านบาท หรือประมาณปีละ 60 ล้านบาทในปี 2533 ตั้งเป้าหมายการขายไว้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
วิธีการทำตลาด คือ การเจาะสมาชิก โดยให้สมาชิกซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เคยบริโภคซันคลอเรลลามาก่อนแนะนำผู้อื่นมาสมัครเป็นสมาชิกต่อกันเป็นทอดๆ ทั้งนี้สมาชิก ซึ่งเป็นผู้บริโภคและผู้ขายนอกจากจะได้รับประโยชน์ในแง่ได้บริโภคสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีรายได้จากการจำหน่ายและแนะนำผู้เป็นสมาชิกอีกด้วย
ลักษณะการส่งเสริมการขายตรงในรูปของสมาชิก ซึ่งผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียค่าสมาชิกประมาณ 400 บาท โดยจะได้รับกระเป๋าพร้อมเอกสารที่เป็นข้อมูลซันคลอเรลลา รวมทั้งมีการจัดอบรมและพบปะสังสรรค์ทุกวันอังคารและพฤหัสบดีเดือนเว้นเดือน
กลุ่มเป้าหมายแรกจะเป็นวัยกลางคนที่มีกำลังซื้อสูงพอสมควร มีระดับการศึกษาดี แนวโน้มของสินค้าสาหร่ายอัดเม็ดดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ผลิตภัณฑ์ในลักษณะอาหารเสริมสุขภาพที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ซันคลอเรลลาชนิดเม็ด ราคากล่องละ 3,000 บาท และชนิดนํ้าขวดละ 4,100 บาท และ 3,850 บาท (แตกต่างกันที่ระดับความเข้มข้น)
-บริษัทไบโอเท็ม (บระเทศไทย) จำกัด เปิดดำเนินการมาประมาณ 1 ปี โดยการรวมกลุ่มของนักวิชาการสาขาต่างๆ เช่น สาขาเคมี สาขาชีววิทยา และสาขาเทคนิคการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อนำเข้าอาหารเสริมจากสหรัฐอเมริกา สำหรับอาหารเสริมประเภทสาหร่ายที่นำเข้ามา ได้แก่ สาหร่ายอัดเม็ด SPIRULINA ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 60-70 ซึ่งมากกว่า โปรตีนจากถั่วเหลือง จึงเหมาะสำหรับคนสูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร มี 2 ขนาดให้เลือก คือ กล่องละ 100 เม็ด ราคา 550 บาท และกล่องละ 50 เม็ด ราคา 290 บาท
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น