การใช้สารเคมีกับไม้ดอกไม้ประดับ
กล้วยไม้ (Orchids)
ลดความสูง
การทดลองใช้ paclobutrazol ความเข้มข้นตั้งแต่ 60 ถึง 480 มก/ ล โดยการพ่นทางใบกับต้นกล้วยไม้ Dendrobium ‘Hepa’ ในขณะที่กำลังแตกลำใหม่ ปรากฎว่าความสูงของลำใหม่จะลดลงตามความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้กระถางประดับ ความเข้มข้นที่ เหมาะสมคือ 240 ถึง 480 มก/ ล นอกจากนี้การใช้สารดังกล่าวยังช่วยให้เกิดช่อดอกได้เร็วขึ้นด้วย
กุหลาบ (Rosa spp )
เร่งการแตกตา
จากการทดลองใช้สาร BAP ความเข้มข้น 4,000 มก/ ล โดยผสมในรูปครีมลาโนลิน ทาที่ตากุหลาบพันธุ์ดีที่ติดบนต้นตอกุหลาบป่าภายหลังจากตาติดดีแล้ว จะทำให้เปอร์เซ็นต์การแตกตาเพิ่มขึ้นจาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 66 เปอร์เซ็นต์ ประโยชน์จากการใช้สารนี้คือเป็นการเร่งให้ตาเจริญออกมาเป็นกิ่งได้เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิ่งนั้นพร้อมที่จะออกดอกได้ก่อน นอกจากนี้ยังอาจดัดแปลงใช้กับตากุหลาบในตำแหน่งที่ต้องการให้เจริญเป็นกิ่งเพื่อประโยชน์ในการควบคุมทรงพุ่มและบังคับการออกดอกได้อีกด้วย
กุหลาบหิน (Kalanchoe blossfeldiana)
ควบคุมความสูง
การใช้ daminozide ความเข้มข้น 5,000 มก/ล พ่นทางใบในขณะที่ต้นมีการแตกแขนงข้างยาว 4-5 ซม จะช่วยลดการยืดตัวของกิ่งแขนงนั้น การให้สารดังกล่าวควรทำซ้ำ ประมาณ 2-3 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 15 วัน ผลข้างเคียงจากการใช้สารนี้คือการออกดอกจะช้าลงประมาณ 1 สัปดาห์ การใช้ ancymidol อัตรา 0.25 มก ต่อต้น ก็ใช้ได้ผลเช่นกัน
แกลดิโอลัส (Gladiolus hybrida)
เร่งการงอกของหัว
การแช่หัวย่อย (cormel) ของแกลดิโอลัสในสารละลาย BAP ความเข้มข้น 50 ถึง 5,000 มก/ ล เป็นเวลา 30 นาที ก่อนนำไปปลูก จะช่วยเร่งการงอกของหัวให้เร็วขึ้นได้ โดยความเข้มข้นตั้งแต่ 50 ถึง 5,000 มก/ล ให้ผลพอๆ กัน ในประเทศไทยเคยทดลองใช้ BAP ความเข้มข้น 20 มก/ ล แช่หัว (corm) แกลดิโอลัสนาน 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปปลูกจะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกเพิ่มขึ้น และถ้าใช้ BAP ความเข้มข้น 20 มก/ ล ผสมกับ GA3 100 มก/ ล แทนการใช้ BAP เพียงอย่างเดียว จะได้ผลดียิ่งขึ้น มีข้อสังเกตว่าหัวขนาดเล็กจะตอบสนองต่อสารได้ดีกว่าหัวขนาดใหญ่ โดยหัวขนาดเล็กจะมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงขึ้นจนเห็นได้ชัดเมื่อมีการให้สาร
คริสต์มาส (Euphorbia pulcherrima)
ควบคุมขนาดทรงพุ่ม
การใช้สาร chlormequat ความเข้มข้น 3,200 มก/ล รดลงดินหรือใช้ความเข้มข้น 1,250 ถึง 2,500 มก/ล โดยการพ่นทางใบ จะทำให้ปล้องสั้นลง และได้ทรงต้นที่มีสัดส่วนสวยงาม
ความเข้มข้นที่ใช้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์และช่วงเวลาที่ปลูก การให้สารทางใบโดยการใช้ความเข้นข้นตํ่า (1,250 มก/ล)แต่มากกว่า 1 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกัน 10 ถึง 14 วัน จะให้ผลดีกว่าการให้สารเพียงครั้งเดียว โดยให้สารครั้งแรกภายหลังย้ายปลูกลงกระถาง 10 ถึง 14 วัน ถ้ามีการเด็ดยอดก่อนการให้สาร ควรให้สารครั้งแรกภายหลังการเด็ดยอด 1 สัปดาห์ การให้สารโดยการรดลงดินควรทำภายหลังการย้ายปลูกลงกระถางแล้ว 10 วัน ปริมาณสารที่ให้จะขึ้นอยู่กับขนาดของกระถาง ถ้าใช้กระถางขนาด 11 ซม (4 นิ้ว) ควรให้สารความเข้มข้น 3,200 มก/ ล ปริมาณ 75 มล ถ้าขนาดกระถาง 14 ซม (6 นิ้ว) ควรใช้สาร 100 มล ความเข้มข้นของสารที่ใช้สำหรับการรดลงดิน ถ้านำมาใช้พ่นทางใบอาจเกิดการผิดปกติของใบเนื่องจากความเข้มข้นสูงเกินไป
การใช้ ancymidol อัตรา 0.1 ถึง 0.25 มก/ ต้น โดยการรดลงดินก็ให้ผลดีเช่นกัน ส่วนสารอื่นเช่น mepiquat chloride หรือ paclobutrazol ไม่ว่าจะพ่นทางใบหรือรดลงดินก็ให้ผลดีมากในการควบคุมความสูง แต่ยังจำเป็นต้องหารายละเอียดเพิ่มเติมเช่น ความเข้มข้นและจำนวนครั้งที่เหมาะสมในการให้สาร
คาร์เนชั่น (Dianthus spp)
ควบคุมความสูง (สำหรับไม้กระถาง)
การใช้ chlormequat ความเข้มข้น 3,000 มก/ล พ่นทางใบจะทำให้ทรงต้นกะทัดรัดขึ้น การให้สารควรให้ภายหลังการเพาะเมล็ด 2 ถึง 4 เดือน โดยการพ่นทางใบ ผลกระทบจากการใช้สารนี้คืออาจเกิดอาการใบเหลือง แต่โดยทั่วไปแล้วจะกลับเป็นปกติได้ในภายหลัง การพ่นสาร ขณะที่ต้นยังเต่งอยู่ (ภายหลังจากให้น้ำระยะหนึ่ง) หรือให้สารตอนคํ่าหรือขณะที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนจะช่วยลดอาการใบเหลืองได้
ดาวกระจาย (Cosmos spp)
ควบคุมขนาดทรงพุ่ม
การทดลองใช้ daminozide ความเข้มข้น 1,000 ถึง 8,000 มก/ ล พ่นต้นดาวกระจายจำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ โดยเริ่มพ่นครั้งแรกทันทีหลังจากการเด็ดยอด พบว่าการใช้สารดังกล่าวจะทำให้ความสูงของต้นลดลงตามความเข้มข้นของสารที่เพิ่มขึ้น ขนาดดอกอาจลดลงเล็กน้อยและดอกจะบานช้าลง 2-3 วัน ส่วนการใช้ ancymidol ความเข้มข้น 25 ถึง 100 มก/ ล โดยพ่นทางใบ 3 ครั้ง ควรให้สารห่างกัน 7 วันต่อครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อทำการเด็ดยอด จะทำให้ความสูงของต้นลดลงตามความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ขนาดดอกลดลงเล็กน้อย และความยาวก้านดอกลดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ ความเข้มข้นสูงถึง 100 มก/ล จะทำให้ก้านดอกสั้นเกินไป
ดาวเรือง (Tagetes erecta L.)
ควบคุมความสูง
การใช้ daminozide ความเข้มข้น 2,500 ถึง 5,000 มก/ล พ่นทางใบ จะช่วยลดความสูงได้ การให้สารหลายครั้งได้ผลดีกว่าครั้งเดียว การใช้ ancymidol ความเข้มข้น 25 200 มก/ล ก็ได้ผลดีเช่นกัน ในประเทศไทยเคยทดลองใช้ daminozide ความเข้มข้น 1,000 8,000 มก/ ล กับดาวเรืองชนิดดอกใหญ่พันธุ์ Sovereign โดยให้สารทางใบ 5 ครั้ง ทิ้งช่วงห่างกัน 1 สัปดาห์ เริ่มให้สารครั้งแรกเมื่อต้นมีอายุ 2 สัปดาห์หลังเพาะเมล็ด พบว่าความสูงของต้นจะลดลงตามความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น ช่วงความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 2,000 ถึง 4,000 มก/ล)ซึ่งทำให้
ต้นมีขนาดกะทัดรัดและดอกใหญ่ขึ้นเล็กน้อย แต่การใช้สาร daminozide มีผลทำให้ดอกบานช้าลง 2-5 วัน การใช้ ancymidol กับดาวเรืองพันธุ์นี้ก็ได้มีการทดลองเช่นกันโดยใช้สารความเข้มข้น 50 ถึง 150 มก/ล รดลงดินต้นละ 10 มล (ในกระถางขนาด 15 ซม หรือ 6 นิ้ว) พบว่าการใช้สารหลายครั้งจะดีกว่าการใช้เพียงครั้งเดียว แต่ถ้าให้สารความเข้มข้นสูงถึง 150 มก/ ล จำนวน 3 ครั้ง จะทำให้จำนวนดอกลดลง การให้สารควรเริ่มให้ครั้งแรกเมื่อต้นมีอายุ 2 สัปดาห์ และให้สารซ้ำ 2 ถึง 3 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกัน 1 สัปดาห์
บีโกเนีย (Begonia spp)
เพิ่มการแตกพุ่ม
การใช้ dikegulac sodium ความเข้มข้น 600 ถึง 1,400 มก/ล พ่นทางใบจะช่วยเพิ่มการแตกกิ่งแขนง ทำให้มีดอกมากขึ้นและทรงต้นกะทัดรัด ถ้าเป็นกรณีของต้นที่เกิดจากการตัดชำใบการให้สารควรทำหลังจากระบบรากเจริญดีแล้ว สารจะกระตุ้นให้เกิดการแตกกิ่งแขนงจากโคนกิ่ง ทำให้ได้จำนวนต้นมากขึ้น ถ้าเป็นกรณีที่ให้สารกับต้นอ่อนโดยไม่เด็ดยอด ควรให้เมื่อต้นมีความสูงประมาณ 6-8 ซม ถ้ามีการเด็ดยอดควรให้สารหลังจากเด็ดยอดแล้ว 1 วัน ป้องกันการร่วงของดอก
การใช้ NAA ความเข้มข้น 12.5 มก/ล พ่นต้นในระยะที่ดอกเพิ่งเริ่มแทงช่อขึ้นมาจะช่วยลดการร่วงของดอกได้ ไม่ควรใช้ความเข้มข้นสูงกว่าที่กำหนดเนื่องจากจะทำให้ดอกร่วงได้มากขึ้น และอาจเกิดผลเสียอื่นๆ ตามมา
เบญจมาศ (Chrysanthemum morifolium)
ควบคุมความสูง (สำหรับไม้กระถาง)
การใช้ daminozide ความเข้มข้น 1,250 ถึง 5,000 มก/ล พ่นทั่วต้นจนโชก (run-off) จะช่วยลดความยาวปล้องได้ การให้สารควรทำภายหลังการเด็ดยอดแล้ว และปล่อยแขนงข้างเจริญออกมายาวประมาณ 1.5-2 ซม (ประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์หลังการเด็ดยอด) หรับพันธุ์ที่มีต้นสูงมากอาจต้องให้สาร 2-3 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกัน 2-3 สัปดาห์ daminozide อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของดอกได้ในบางพันธุ์ การใช้ ancymidol หรือ paclobutrazol ให้ผลดีเช่นกัน
เพิ่มความแข็งของคอดอก (สำหรับไม้ตัดดอกประเภท Standard type)
การใช้ daminozide ความเข้มข้น 2,500 ถึง 5,000 มก/ล พ่นทางใบจะทำให้คอดอก (neck) แข็งขึ้น การให้สารทำโดยการพ่นใบเฉพาะส่วนยอด (ตั้งแต่ยอดลงมาประมาณ 15 ซม) จนกระทั่งเปียกโชกโดยให้สารก่อนทำการปลิดตาข้าง (disbudding) ประมาณ 2-3 วัน การใช้สารความเข้มข้น 2,500 มก/ล พ่น 2 ครั้ง จะให้ผลดีกว่าการใช้สารความเข้มข้น 5,000 มก/ล เพียงครั้งเดียว ผลกระทบจากการให้สาร daminozide คือดอกจะบานช้าลง 3-5 วัน
พิทูเนีย (Petunia spp)
ควบคุมขนาดทรงพุ่ม
การใช้ chlorphonium chloride อัตรา 450 ถึง 900 กรัม คลุกลงในดินปลูก 1 ลูกบาตก์เมตรก่อนปลูกต้นพิทูเนียจะทำให้ปล้องสั้นลงและเพิ่มการแตกแขนงข้างมากขึ้น อัตราที่ใช้จะแตกต่างไปจากนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ฤดูกาลและชนิดของดินปลูก การใช้ daminozide ความเข้มข้น 2,500 ถึง 5,000 มก/ล พ่นทางใบก็ใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน การให้สารในฤดูหนาว จะได้ผลดีกว่าในฤดูร้อน และถ้าให้สารมากกว่า 1 ครั้งจะให้ผลดีมากขึ้น ethephon ความเข้มข้น 300 ถึง 800 มก/ล ก็ใช้ได้ผลกับพิทูเนียบางพันธุ์ โดยการพ่นให้ทางใบ จะช่วยลดความสูงของต้น และเพิ่มการแตกกิ่งแขนงได้ ในประเทศไทยเคยทดลองใช้ daminozide ความเข้มข้น 2,500 และ 5,000 มก/ ล และ ethephon ความเข้มข้น 250 และ 500 มก/ ล พ่นต้นพิทูเนียพันธุ์ ‘Sugai Daddy’ พบว่าใช้ได้ดี โดยความสูงของต้นและความกว้างทรงพุ่มจะลดลงตามความเข้มข้นของสารที่เพิ่มขึ้น แต่จะเริ่มออกดอกช้าลงเล็กน้อย
สับปะรดประดับ (Bromeliads)
กระตุ้นการเกิดดอก
ethephon กระตุ้นการเกิดดอกของสับปะรดประดับได้เช่นเดียวกับสับปะรดรับประทานผล ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 960 มก/ล โดยหยอดลงที่ยอดต้นละ 10 มล ใช้ได้ผลดีกับต้นที่มีอายุ 1.5 ถึง 2 ปี ถ้าต้นมีอายุมากขึ้นจะต้องใช้ความเข้มข้นสูงขึ้น ethephon จะกระตุ้นให้เกิดดอกได้ภายใน 2 เดือนหลังการให้สาร
เพิ่มการเกิดหน่อ
สารพวก chlorflurenol ช่วยเพิ่มการเกิดหน่อของสับปะรดประดับได้เช่นกัน โดยมีวิธีการคล้ายกับการเพิ่มหน่อสับปะรดรับประทานผล จากการทดลองใช้สาร chlorflurenol กับสับปะรดประดับพันธุ์ Cafe Au Lait’ โดยใช้สารความเข้มข้น 200-400 มก/ ล พ่นต้น ภายหลังจากการใช้ ethephon เร่งดอกแล้ว 2 สัปดาห์ จะทำให้เกิดหน่อได้มากขึ้นตามความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น แต่ใบจะมีขนาดเล็กลง และผิดปกติ แต่ไม่เกิดความเสียหายมากนัก อาจใช้เป็นแนวทางเพื่อผลิตหน่อสำหรับการขยายพันธุ์ได้
ที่มา:พีรเดช ทองอำไพ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น