ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอกของพืช



การเกิดดอก
ดอกพืชเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นจุดเริ่มแรกของการขยายพันธุ์ โดยการพัฒนาต่อไปเป็นผลและเมล็ด ไม้ดอกหลายชนิดถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่มีดอกขนาดใหญ่ สีสวยและออกดอกสมํ่าเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกไม้ล้มลุก และขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งผลิตขึ้นมาจากต้นพ่อและแม่ที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว พืชเหล่านี้จงมักไม่มีปัญหาเรื่องการออกดอก ถ้ามีการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง ส่วนไม้ผลหลายชนิดมีปัญหาว่าบางครั้งไม่ออกดอกทั้งๆ ที่ถึงฤดูกาลที่เหมาะสมแล้วก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องการออกดอกของไม้ผลจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากผลผลิตของไม้ผลขึ้นอยู่กับการออกดอกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังอยู่ในความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ทั้งทลาย ซึ่งยังต้องอาศัยเวลาอีกนาน

จากความพยามยามของนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวทำให้เราทราบถึงปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกดอกของพืชบางชนิด และหนึ่งในปัจจัยสำคัญนั้นคือฮอร์โมนพืช ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของพืช มีกี่ชนิด อะไรบ้าง สร้างขึ้นอย่างไร ยังเป็นปัญหาที่ไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้ เคยมีผู้เสนอว่าการออกดอกของพืชถูกควบคุมโดยฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่พืชสร้างขึ้น ซึ่งเรียกว่าฟลอริเจน (florigen) แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ใดสกัดฟลอริเจน จากพืชได้เลย และไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ว่า ฟลอริเจนมีจริงหรือไม่ เคยมีรายงานว่า จิบเบอเรลลิน น่าจะเป็นฟลอริเจนเนื่องจากเร่งการออกดอกของพืชได้ แต่ต่อมามีข้อโต้แย้งว่า จิบเบอเรลลินก็มีผลยับยั้งการออกดอกของพืชมากชนิดเช่นกัน จึงไม่อาจจัดว่าจิบเบอเรลลิน เป็นฟลอริเจนได้ ในระยะหลังพบว่าเอทิลีนกระตุ้นให้พืชหลายชนิดออกดอกได้แต่ก็ไม่ใช่ทุกชนิด และยังพบว่าพืชบางชนิดถ้าได้รับเอทิลีนมากเกินไปจะถูกยับยั้งออกดอกแต่ถ้าได้รับสารเพียงช่วงสั้นๆ กลับออกดอกได้ เช่นแดฟโฟดิล แต่ในทางตรงกันข้ามบางพืชจะออกดอกได้เมื่อได้รับเอทิลีนติดต่อกันเป็นเวลานานพอควร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคิดว่ามีแนวทางที่เป็นไปได้ 2 ทางที่จะอธิบายการเกิดดอกของพืช นั่นคือประการแรก พืชแต่ละชนิดต้องการฮอร์โมนต่างชนิดกันเพื่อการออกดอก และประการที่สอง คือการออกดอกถูกควบคุมโดยระดับความสมดุล ระหว่างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตและสารยับยั้งการเจริญเติบโต แต่แนวทางทั้ง 2 นี้มีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีใครให้คำตอบได้

กระบวนการออกดอกของพืช
การออกดอกเป็นสัญญานว่าพืชนั้นเข้าสู่ระยะชราภาพ (senescence) พืชบางชนิด เมื่อออกดอกติดผลแล้วจะตายเนื่องจากครบวงจรชีวิตแล้ว ได้แก่พืชล้มลุกทั้งหลาย เช่น กล้วย ไผ่ สับปะรด แต่พืชบางชนิดเมื่อออกดอกติดผลแล้วก็จะเริ่มมีการเจริญทางกิ่งใบใหม่ จนกระทั่ง กิ่งใบเหล่านี้แก่พอก็จะออกดอกติดผลอีก และเป็นเช่นนี้วนเวียนไปเป็นเวลานานก่อนที่ต้นจะตาย ได้แก่พวกไม้ผลยืนต้นทั้งหลาย เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ ทุเรียน

พืชทั่วไปจะออกดอกได้เมื่อมีความพร้อมนั่นคืออายุ อาหารสะสม สภาพแวดล้อมพอเหมาะ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยร่วมกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตามพืชบางชนิดมีข้อยกเว้นแตกต่างกันไป เช่นต้นกล้ามะม่วงที่เกิดจากการทาบกิ่ง อาจออกดอกได้ภายในกระถาง หลังจากย้ายปลูกใหม่ๆ เมื่อได้รับอากาศเย็นพอเพียง กรณีนี้แสดงว่าสภาพแวดล้อมมีผลอย่างมาก ในการบังคับให้เกิดดอกทั้งๆ ที่อายุยังไม่พร้อม แต่ในขณะเดียวกันไม้ผลอีกหลายชนิดเช่น ลำไย ลิ้นจี่ รวมทั้งมะม่วง ที่มีอายุหลายปีก็ไม่สามารถออกดอกได้ในบางปี ทั้งๆ ที่มีสภาพอากาศพอเหมาะ กรณีนี้อาจเกิดจากอาหารสะสมภายในต้นไม่เพียงพอ หรืออายุของกิ่งและใบยังไม่พร้อมเช่นใบยังไม่แก่จัดขณะได้รับอากาศเย็น ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือไม้ผลเหล่านี้ถ้ามีการ ออกดอกติดผลมากในปีหนึ่ง จะมีผลให้เกิดการออกดอกน้อยในปีถัดไป ซึ่งน่าจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าอายุของกิ่งและอาหารสะสมภายในกิ่งมีความสำคัญต่อการเกิดดอกมาก ไม้ผลบางชนิดเช่น มะม่วงทะวาย สามารถออกดอกได้ทั้งปีโดยไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม แต่ขึ้นอยู่กับอาหารสะสมเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอก
การเกิดดอกของพืชถูกควบคุมโดยปัจจัยต่างๆ ทั้งสภาพแวดล้อมและชนิดของพืช ซึ่งสามารถอธิบายรายละเอียดของแต่ละปัจจัยได้ดังนี้

1. พันธุ์ พืชต่างพันธุ์กันมีความสามารถในการออกดอกไม่เท่ากัน เช่นลิ้นจี่พันธุ์ ฮงฮวยจะออกดอกได้ยากกว่าลิ้นจี่พันธุ์ค่อมเมื่อปลูกในสภาพแวดล้อมเช่นภาคกลาง และในทำนองเดียวกันมะม่วงทะวายต่างๆ มีพฤติกรรมการออกดอกง่ายและสมํ่าเสมอกว่ามะม่วงพันธุ์ เขียวเสวย ในการบังคับการออกดอกของพืชเหล่านี้ก็จะพบว่าพันธุ์ที่ออกดอกได้ง่ายอยู่แล้วมีโอกาสที่จะตอบสนองต่อการบังคับได้ดีกว่าพันธุ์ที่ออกดอกได้ยาก

2. อายุของพืช เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่กำหนดการออกดอกของพืช ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าพืชต้องมีการเติบโตทางด้านกิ่งใบในช่วงแรกก่อนจนกระทั่งถึงอายุเหมาะสมจึงจะออกดอกได้ เช่นสับปะรดจะออกดอกได้เมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 8 เดือนภายหลังจากปลูกด้วยหน่อ ดังนั้นการบังคับการออกดอกโดยใช้สารเคมีต้องทำเมื่ออายุต้นมากกว่า 8 เดือนขึ้นไปถ้าอายุน้อยกว่านี้ก็จะไม่ออกดอก พืชล้มลุกหลายชนิด เช่นไม้ดอกล้มลุก ผักชนิดต่างๆ มักจะมีช่วงอายุก่อนการออกดอกค่อนข้างคงที่โดยขึ้นอยู่กับพันธุ์และฤดูกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับอายุก่อนการออกดอกเป็นอย่างมาก การที่พืชเหล่านี้มีอายุก่อนการออกดอกค่อนข้างคงที่และมีกำหนดตายตัว จึงเป็นผลดีต่อการวางแผนการปลูกเพื่อผลิตพืชเหล่านั้นให้ตรงตามความต้องการได้ แต่พืชหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลยืนต้น ซึ่งมีการเติบโตทางด้านกิ่งใบสลับกับการออกดอกนั้น จะควบคุมการออกดอกได้ยากกว่าเนื่องจากช่วงอายุระหว่างการเติบโตทางกิ่งใบและการออกดอกไม่มีกำหนดตายตัวที่แน่นอน การออกดอกของพืชเหล่านี้จึงมักขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอื่นๆ เป็นสำคัญ

3. แสง มีความสำคัญต่อการออกดอกของพืชหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชล้มลุก ซึ่งคุณภาพของแสง ความเข้มของแสง และความยาวของช่วงวันเป็นสิ่งกำหนดการออกดอก โดยที่ความเข้มของแสงยิ่งมากก็จะทำให้การสังเคราะห์แสงดีขึ้น จึงมีอาหารมากพอในการออกดอก ส่วนความยาวของวันนั้นก็สำคัญมากเช่นกัน พืชทั่วๆ ไปสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท โดยอาศัยการตอบสนองต่อความยาวของช่วงวัน คือพืชวันสั้น (short day plant) พืชวันยาว (long day plant) และพืชที่ไม่ตอบสนองต่อช่วงวัน (neutral plant) พืชวันสั้นจะออกดอกได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพที่มีช่วงแสงตํ่ากว่าช่วงวิกฤติ (critical period) ช่วงวิกฤตินี้คือ ช่วงความยาวของวันที่กำหนดให้ของพืชแต่ละชนิดเปลี่ยนการเติบโตทางด้านกิ่งใบไปเป็นการออกดอก ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีช่วงวิกฤติที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น เบญจมาศ ซึ่งเป็นพืชวันสั้น มีช่วงวิกฤติ 13.5 ชั่วโมง หมายความว่าเบญจมาศจะออกดอกได้เมื่ออยู่ในสภาพที่มีแสงน้อยกว่า 13.5 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าความยาวช่วงวันมากกว่านี้จะเกิดการเติบโตทางด้านกิ่งใบ แทนการออกดอก ดังนั้นจึงสามารถบังคับการเติบโตของเบญจมาศได้ โดยในช่วงแรกของการปลูกจะมีการเปิดไฟในเวลากลางคืนเพื่อทดแทนแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้มีแต่การเติบโตทางกิ่งใบ เมื่อต้นโตได้ขนาดดีแล้ว จึงใช้ผ้าดำคลุมโรงเรือนในเวลาใกล้เย็นเพื่อไม่ให้ได้รับแสง ทำให้ช่วงที่ต้นเบญจมาศได้รับแสงน้อยกว่าช่วงวิกฤติจึงเกิดการออกดอกได้ พืชชนิดอื่นที่จัดเป็นพืชวันสั้น ได้แก่ ถั่วเหลือง คริสต์มาส กุหลาบหิน สตรอเบอรี่ เป็นต้น

พืชอีกประเภทหนึ่งคือพืชวันยาว ซึ่งพืชเหล่านี้จะออกดอกได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพที่มีช่วงวันยาวกว่าช่วงวิกฤติ เช่น คาร์เนชั่น มันฝรั่ง ผักกาดหอม แรดิช ส่วนพืชที่ไม่ตอบสนองต่อช่วงวัน เช่น มะเขือเทศ ทานตะวัน ข้าวบางพันธุ์ พืชเหล่านี้จะออกดอกได้เมื่อถึงอายุโดยไม่ เกี่ยวข้องกับความยาวของช่วงวัน แต่ก็มีพืชบางชนิดที่ออกดอกได้ไม่ว่าช่วงวันเป็นเท่าใด แต่จะออกดอกได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพช่วงวันสั้นหรือยาว เช่น ดาวกระจาย ฝ้าย และข้าวบางพันธุ์ ซึ่งจะออกดอกได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงวันสั้น ส่วนถั่วลันเตา และพิทูเนียจะออกดอกได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงวันยาว

4. อุณหภูมิ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากอันหนึ่ง ไม้ผลหลายชนิดต้องการอากาศเย็นช่วงหนึ่งก่อนการออกดอก เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ความต้องการอากาศเย็นของแต่ละพืชหรือแต่ละพันธุ์แตกต่างกันไป เช่นมะม่วงต้องการช่วงอากาศเย็นน้อยกว่าลิ้นจี่ก็ออกดอกได้ และลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยซึ่งปลูกมากทางภาคเหนือต้องการอากาศเย็นยาวนานกว่าลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่ปลูกแถบภาคกลาง อุณหภูมิตํ่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนภายในพืช และทำให้พืชชะงักการเติบโตทางกิ่งใบ จึงมีผลกระตุ้นการออกดอกได้ถ้าสภาพอื่นๆ พร้อม เช่น อาหารสมบูรณ์ เละไม่อยู่ในช่วงใบอ่อน ไม้ดอกเขตหนาวหลายชนิดต้องการอากาศเย็นก่อนการออกดอกเช่นกัน ได้แก่เบญจมาศบางพันธุ์ กุหลาบหิน คาร์เนชั่น

มีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถออกดอกได้ทุกฤดูกาลไม่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิหรือเกี่ยวข้องน้อยมาก ได้แก่มะละกอ มะม่วงทะวาย มะพร้าว เป็นต้น อย่างไรก็ตามพอสรุปได้ว่า อุณหภูมิยังเป็นปัจจัยสำตัญต่อการออกดอกของพืชหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิตํ่า

5. ความชื้นในดิน ไม้ผลหลายชนิดต้องการช่วงแล้งก่อนการออกดอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบกับสภาพอากาศเย็น ก็จะช่วยกระตุ้นให้ออกดอกได้มากขึ้น ในสภาพแล้งดังกล่าวต้นพืชจะชะงักการเติบโตทางกิ่งใบและเกิดการสะสมอาหารมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดดการออกดอก ดังนั้นวิธีการงดให้นํ้ากับพืชบางชนิด เช่น ส้ม น้อยหน่า มะม่วง ทุเรียน เงาะ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะบังคับให้เกิดการออกดอก อย่างไรก็ตามในกรณีที่ต้นมีความสมบูรณ์สูงมาก อาจไม่จำเป็นต้องงดนํ้า ก็สามารถออกดอกได้เช่นกัน

6. การตัดแต่งกิ่ง เป็นการบังคับการออกดอกของไม้ผลบางชนิด เช่น น้อยหน่า ส้ม องุ่น วิธีการนี้เป็นการลดการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ และยังมีผลทำให้ต้นพืชสร้างอาหารได้ดีขึ้น โดยมีการแตกใบใหม่ออกมา ซึ่งใบใหม่เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงสูงกว่าใบแก่นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งที่ถูกต้องจะเป็นการลดการแก่งแย่งอาหารระหว่างกิ่งพืช จึงทำให้มีอาหารสะสมสำหรับการออกดอกมากขึ้น

7. ฮอร์โมน เป็นปัจจัยที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลสรุปของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกดอก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเกือบทุกปัจจัยล้วนแล้วแต่มีผลกระทบถึงระดับฮอร์โมนภายในพืชทั้งสิ้น การออกดอกของไม้ผลยืนต้นหลายชนิดถูกควบคุมโดยปริมาณ จิบเบอเรลลินและเอทิลีนที่พืชสร้างขึ้น ในช่วงที่มีการออกดอกพบว่าปริมาณจิบเบอเรลลินจะลดระดับลง และมีการสร้างเอทิลีนมากขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการออกดอกของพืชเป็นกระบวนการหนึ่งที่เข้าสู่ระยะชราภาพ ดังนั้นการลดระดับของจิบเบอเรลลินและการเพิ่มปริมาณ ของเอทิลีนจึงสอดคล้องกับความจริงข้อนี้ นั่นคือจิบเบอเรลลินเป็นสารที่ส่งเสริมให้พืชเติบโตทางด้านกิ่งใบหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับเยาวภาพ (juvenility) ของพืช ส่วนเอทิลีนส่งเสริมให้เกิดการแก่ชรา (senescence) ฮอร์โมนชนิดอื่น เช่น ออกซิน และไซโตไคนิน อาจเกี่ยวข้องกับการออกดอกเช่นกัน โดยเหตุที่ฮอร์โมนทั้ง 2 กลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับเยาวภาพของพืช จึงมักมีผลชะลอการออกดอก แต่ผลของสารดังกล่าวอาจไม่เด่นชัดเท่าจิบเบอเรลลิน อย่างไรก็ตาม การใช้สารจิบเบอเรลลิน ออกซิน หรือไซโตไคนินกับพืชบางชนิดอาจช่วยกระตุ้นการออกดอกได้ แต่ไม่ทุกกรณี

การบังคับการออกดอกของไม้ผลยืนต้น
การออกดอกของพืชเป็นการเปลี่ยนจากสภาพการเจริญทางกิ่งใบมาเป็นการเจริญทางด้านการสืบพันธุ์ พืชทั่วไปไม่สามารถเจริญได้พร้อมกันทั้ง 2 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลยืนต้น เมื่อมีการเจริญทางกิ่งใบก็จะไม่ออกดอกและเมื่อมีการออกดอกก็จะหยุดการเจริญทางกิ่งใบ ดังนั้นการบังคับการออกดอกของไม้ผลหลายชนิดจึงทำได้โดยการลดการเติบโตทางกิ่งใบ เช่น ลดปุ๋ยไนโตรเจน งดการให้น้ำก่อนการออกดอก ซึ่งมีผลให้ต้นมีการเติบโตทางกิ่งใบน้อยลง และจะออกดอกได้ ส่วนวิธีการอื่นๆ ที่ใช้บังคับการออกดอก ได้แก่การควั่นกิ่ง การรัดกิ่ง การตัดราก หรือแม้กระทั่งการตัดแต่งกิ่ง การปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยลดการเติบโตทางกิ่งใบ และเพิ่มการสะสมอาหารในกิ่ง

ฮอร์โมนที่พืชสร้างขึ้นก็มีส่วนอย่างมากต่อการออกดอก ปัจจุบันพบแล้วว่าพืชหลายชนิดได้แก่ มะม่วง ส้ม สตรอเบอรี่ ผลไม้เขตหนาวต่างๆ เช่น ท้อ แอปเปิล เชอรี่ อัลมอนด์ จะมีการออกดอกได้ก็ต่อเมื่อปริมาณจิบเบอเรลลินภายในต้นมีน้อยลง เนื่องจากจิบเบอเรลลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางกิ่งใบ ดังนั้นวิธีการใดก็ตามที่มีผลทำให้ปริมาณจิบเบอเรลลินลดตํ่าลง ก็ย่อมจะกระตุ้นให้พืชเหล่านี้ออกดอกมากขึ้น วิธีหนึ่งที่จะลดปริมาณจิบเบอเรลลินภายในต้นพืชคือให้สารชะลอการเจริญเติบโตบางชนิดกับพืชนั้น เช่น daminozide, chlormequat, paclobutrazol ซึ่งสารเหล่านี้มีผลลดการสร้างจิบเบอเรลลินภายในพืช มีการทดลองในต่างประเทศ โดยการใช้ GA3 พ่นไปที่ต้นมะม่วง พบว่ามีผลยับยั้งการออกดอกแต่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโต ทางกิ่งใบแทน และถ้าใช้สาร chlormequat หรือ daminozide พ่นที่ต้นมะม่วงจะทำให้ออกดอกได้มากขึ้นโดยพบว่าความยาวกิ่งจะลดลงด้วย แสดงว่าสารดังกล่าวลดการเติบโตทางกิ่งใบได้ ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการยับยั้งการสร้างจิบเบอเรลลินในพืช อย่างไรก็ตาม เคยมีการทดลองใช้ daminozide กับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ทะวาย#4 ปรากฎว่าสารดังกล่าวไม่สามารถลดการเติบโตทางกิ่งใบได้และไม่ช่วยให้การออกดอกมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีการผลิตสารชะลอการเติบโตชนิดใหม่คือ paclobutrazol ซึ่งสารนี้มีผลอย่างมากในการลดการสร้างจิบเบอเรลลินในพืช เมื่อทดลองใช้กับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ทะวาย#4 จะทำให้ความยาวกิ่งลดลง และกระตุ้นให้เกิดดอกได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ในช่วงที่พืชออกดอกนั้น นอกจากปริมาณจิบเบอเรลลินจะลดลงแล้วยังพบว่าพืชหลายชนิดจะมีปริมาณเอทิลีนสูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงอาจใช่เอทิลีนหรือสารปลดปล่อยเอทิลีนเช่น ethephon บังคับการออกดอก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสับปะรด ซึ่งมีการใช้ ethephon บังคับการออกดอก และใช้ในเชิงพาณิชย์ทุกวันนี้ จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการออกดอกเป็นกระบวนการเข้าสู่ชราภาพของพืช และเอทิลีนเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการชราภาพ ดังนั้นจึงมีแนวทางที่เป็นไปได้มากว่าเอทิลีนสามารถกระตุ้นการออกดอกของไม้ผลชนิดต่างๆ ได้ เช่น มะม่วง เงาะ ลิ้นจี่ ซึ่งเคยมีรายงานการทดลองการใช้ ethephon กับพืชเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการออกดอกได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าการใช้สารดังกล่าวให้ได้ผลนั้นจะต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของต้นเป็นสำคัญ

จากที่กล่าวมาพอสรุป’ได้ว่า การควั่นกิ่งหรือรัดกิ่ง การตัดราก มีผลให้เกิดการสะสมอาหารมากขึ้นหรือลดการเติบโตทางกิ่งใบ การใช้สารชะลอการเจริญเติบโตมีผลลดการสร้างจิบเบอเรลลินซึ่งทำให้พืชหยุดการเติบโตทางกิ่งใบ และการใช้เอทิลีนมีผลเร่งให้พืชเข้าสู่ระยะชราภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้พืชเกิดการออกดอก ดังนั้นถ้านำปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ก็น่าจะทำให้การออกดอกของไม้ผลเป็นไปได้ดีขึ้น

การออกดอกของพืชล้มลุก
พืชล้มลุกมีวงจรชีวิตสั้น เมื่อออกดอกติดผลแล้วก็จะตายไป พืชเหล่านี้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีอายุถึงกำหนดก็จะออกดอกได้ตามปกติ โดยไม่ต้องมีการบังคับ แต่ในบางกรณีที่พืชนั้นอยูในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ก็อาจใช้ PGRC ช่วยในการออกดอกได้ เช่นพืชวันยาวจะไม่ออกดอกในสภาพที่มีช่วงวันสั้น แต่การใช้จิบเบอเรลลินให้กับพืชเหล่านี้มีผลทดแทนช่วงวันยาว จึงเร่งให้ออกดอกได้เมื่อปลูกพืชเหล่านี้ในสภาพวันสั้น แต่อย่างไรก็ตามจิบเบอเรลลินไม่สามารถเร่งการออกดอกของพืชวันสั้นที่ปลูกในสภาพวันยาวได้

พืชหลายชนิดที่มีการเติบโตของลำต้นแบบเป็นกระจุก (rosette) เช่น ผักกาดหอม กะหลํ่าปลี พืชเหล่านี้จะมีปล้องสั้นและถี่มากใบจึงอยู่ชิดกัน ทำให้เกิดลักษณะทรงพุ่มแน่นเหมือนดอกกุหลาบ แต่เมื่องถึงช่วงการออกดอกจะมีการยืดตัวของปล้องอย่างมาก เนื่องจากในช่วงนี้มี ปริมาณจิบเบอเรลลินสูงขึ้น ดังนั้นการใช้จิบเบอเรลลินกับพืชเหล่านี้ในช่วงที่ยังมีแต่การเติบโตทางกิ่ง ใบ จึงอาจบังคับให้ต้นยืดตัวและออกดอกได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าใช้สารชะลอการเจริญเติบโต ซึ่งมีผลยับยั้งการสร้างจิบเบอเรลลินก็มีผลในทางส่งเสริมการเติบโตทางกิ่งใบและยับยั้งการออกดอกได้ เช่น การใช้ daminozide กับผักกาดหอมจะช่วยชะลอการเกิดดอก และการใช้ daminozide กับกะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี หรือผักกาดเขียวปลีจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากสารดังกล่าวมีผลส่งเสริมการเติบโตทางกิ่งใบแทนการออกดอก

สารชะลอการเจริญเติบโตมีผลเร่งการออกดอกของพืชหลายชนิด เช่นการใช้ chlormequat กับมะเขือเทศ จะช่วยให้เกิดดอกได้มากและเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยมีผลทดแทนสภาพความเย็น นั่นคือมะเขือเทศเมื่อปลูกในฤดูหนาวจะมีใบน้อยลง ลำต้นสั้นและออกดอกมากและเร็ว ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะพบในมะเขือเทศที่ปลูกนอกฤดูซึ่งมีการใช้สารชะลอการเติบโต สารชะลอการเจริญเติบโตยังมีผลเร่งการออกดอกของพืชอื่นอีกเช่น แกลดิโอลัส และไม้ดอกเขตหนาวอีกหลายชนิด

สารในกลุ่มไซโตไคนินอาจมีผลเร่งการออกดอกได้ในบางพืช เช่น มะเขือเทศและกล้วยไม้บางพันธุ์ เมื่อไม่นานมานี้มีการทดลองใช้สาร BAP กับกล้วยไม้อแรนด้า คริสติน (Aranda ‘Christine’) โดยตัดยอดเดิมของต้นออกและใช้สารละลาย BAP หยอดที่ตาข้างหรือใช้ในรูปครีมลาโนลินทาที่ตาข้าง จะทำให้เกิดดอกได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามผลของสารไซโตไคนินที่มีต่อการออกดอกของพืช อาจเป็นเพราะว่าสารกลุ่มนี้กระตุ้นให้มีการแตกตามากขึ้น และในกรณีที่ตานั้นเป็นตาดอก ก็จะทำให้พบว่ามีการออกดอกมากขึ้น

โดยสรุปแล้วสารพวกจิบเบอเรลลิน สามารถเร่งการออกดอกของพืชบางชนิดได้และยับยั้งการออกดอกของพืชอีกหลายชนิด และในทางตรงกันข้าม สารชะลอการเจริญเติบโตอาจเร่งการออกดอกของพืชบางชนิดได้ แต่จะมีผลยับยั้งหรือชะลอการออกดอกของพืชที่ถูกกระตุ้นการออกดอกโดยจิบเบอเรลลิน ส่วนสารชนิดอื่น เช่น ออกซิน ไซโตไคนิน และเอทิลีน มีบทบาทต่อการออกดอกของพืชล้มลุกไม่เด่นชัดนัก

สัดส่วนเพศดอก
ดอกพืชมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์อยู่ 2 อย่างคือ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย พืชหลายชนิดมีดอกซึ่งประกอบด้วยทั้ง 2 เพศอยู่ในดอกเดียวกัน แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่แยกกัน โดยอาจอยู่ต่างดอกกันหรือแม้กระทั่งต่างต้นกัน ถ้าแบ่งพืชตามลักษณะของเพศดอกจะได้ดังนี้

1. พืชที่มีดอกตัวผู้และตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศอยู่แยกต้นกัน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง เงาะ มะละกอ พืชเหล่านี้ถ้าเป็นต้นตัวผู้แท้หรือตัวเมียแท้ก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เปลี่ยนไปเป็นอีกเพศหนึ่งได้

2. พืชที่มีดอกตัวผู้และตัวเมีย อยู่ในต้นเดียวกันแต่ต่างดอกกัน เช่น กล้วย มะพร้าว ขนุน ข้าวโพด แตงกวาและพืชตระกูลแตงทั้งหลาย

3. พืชที่มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ และดอกตัวผู้หรือตัวเมีย อยู่ในช่อเดียวกันแต่ต่างดอกกัน เช่น มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่

ดอกตัวผู้ของพืชไม่สามารถติดผลได้ แต่ก็ยังมีประโยชน์โดยการปล่อยละอองเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมีย พืชหลายชนิดถ้ามีแต่ดอกตัวเมียเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถติดผลได้เช่นกันเนื่องจากไม่มีเกสรตัวผู้มาผสม ดังนั้นสัดส่วนระหว่างดอกตัวผู้และตัวเมีย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ เกี่ยวข้องกับผลผลิตของพืช เมื่อศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงเพศดอกพบว่าสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ปริมาณนํ้าในดิน และฤดูกาล ล้วนมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น แต่สาเหตุที่แท้จริงในการควบคุมการแสดงเพศดอก คือ ฮอร์โมน สภาพแวดล้อมมีผลต่อปริมาณฮอร์โมน ภายในพืชจึงมีผลทางอ้อมในการควบคุมเพศดอกเช่นกัน

พืชตระกูลแตงเป็นตัวอย่างสำคัญในการศึกษาเรื่องการแสดงเพศดอก จากการศึกษากันอย่างกว้างขวางในพืชเหล่านี้ได้ข้อสรุปว่าฮอร์โมนที่ส่งเสริมการเกิดดอกตัวผู้คือ จิบเบอเรลลิน และฮอร์โมนที่กระตุ้นการเกิดดอกตัวเมียคือ ออกซินและเอทิลีน จากหลักการนี้เองจึงมีประโยชน์อย่างมากในการควบคุมเพศดอกของพืชให้เป็นไปตามที่เราต้องการ การใช้สาร ethephon ซึ่งเป็นสารปลดปล่อยเอทิลีน พ่นต้นแตงกวาสายพันธุ์ที่ให้ดอกตัวผู้และตัวเมียในต้นเดียวกันในระยะต้นกล้ามีใบจริง 1-3 ใบ จะทำให้เกิดดอกตัวเมียได้มากขึ้น โดยที่บางพันธุ์จะไม่มีดอกตัวผู้ เกิดขึ้นเลยในข้อแรกๆ ของต้น ซึ่งตามปกติแล้วในข้อแรกๆ นั้นจะต้องเป็นดอกตัวผู้จึงเหมาะที่จะใช้กับแตงกวาที่ปลูกเป็นการค้าทั่วไปเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและเร็วขึ้น ส่วนแตงกวาสายพันธุ์ที่มีแต่ดอกตัวเมียทั้งต้นนั้น ปัจจุบันมีอยู่หลายพันธุ์ การใช้สาร GA3 หรือ GA4 + GA7 ทาที่ยอดต้นกล้าหรือพ่นต้นในระยะที่มีใบจริง 1-2 ใบ ก็จะกระตุ้นให้เกิดดอกตัวผู้ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับงานผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม

พืชชนิดอื่นเช่น เงาะ ก็มีการใช้สารเคมีเพื่อช่วยเปลี่ยนเพศดอกเช่นกัน เงาะที่ปลูกในประเทศไทยมีต้นที่ให้ดอกตัวผู้ทั้งต้นและต้นที่ให้ดอกสมบูรณ์เพศแต่เกสรตัวผู้ไม่ทำงาน ต้นตัวผู้ไม่สามารถให้ผลผลิตได้จึงถูกโค่นทิ้งเกือบทั้งหมด เหลือไว้แต่เพียงต้นที่ให้ดอกสมบูรณ์เพศ แต่เนื่องจากดอกสมบูรณ์เพศซึ่งมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกันแต่เกสรตัวผู้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องจากอับละอองเกสรไม่แตกออกมา ดังนั้นดอกเหล่านี้จึงไม่สามารถติดผล เนื่องจากไม่มีการผสมเกสร การใช้สาร NAA พ่นไปที่ช่อดอกเงาะเหล่านี้บางส่วนจะทำให้ดอกที่ได้รับสารเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เกสรตัวผู้จะถูกกระตุ้นให้เติบโตขึ้นมาและเกสรตัวเมียลดรูปลงจนเหมือนกับดอกตัวผู้ทั่วๆ ไป และจะปลดปล่อยละอองเกสรออกมาผสมกับดอกอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงได้

NAA และ ethephon สามารถเปลี่ยนเพศดอกของลำไยได้ โดยทำให้ดอกตัวเมียมากขึ้น นอกจากนี้สารชะลอการเจริญเติบโต เช่น chlormequat และ daminozide ก็มีผลทำให้ดอกตัวเมียเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสารเหล่านี้มีผลยับยั้งจิบเบอเรลลิน ซึ่งจิบเบอเรลลินเป็นสารที่ส่งเสริมการเจริญของตัวผู้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จากการทดลองกับลิ้นจี่ก็ได้ผลทำนองเดียวกันโดยมีการใช้ สาร ethephon และ daminozide ก่อนการออกดอก จะทำให้มีดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่ตัวเมีย (ดอกตัวเมีย) เพิ่มมากขึ้นและยับยั้งการเกิดดอกตัวผู้ จึงทำให้อัตราส่วนระหว่างดอกตัวผู้ต่อดอกตัวเมียลดต่ำลงอย่างเด่นชัด

ในกรณีของข้าวโพดหวานพบว่าการใช้ daminozide จะทำให้เกิดดอกตัวเมีย (ฝักข้าวโพด) ได้มากขึ้น และน้ำใช้ ethephon แช่เมล็ดก่อนนำไปปลูกจะทำให้ออกฝักเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้ามีการแช่เมล็ดใน GA3 จะทำให้ดอกตัวผู้เกิดขึ้นมากกว่าปกติจนเห็นได้ชัดและมีละออง เกสรตัวผู้เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและยังเป็นประโยชน์ต่อการติดฝักของข้าวโพด ดังนั้นถ้าปลูกต้นข้าวโพดที่ให้สาร GA3 แทรกในแปลงปลูก ก็น่าจะมีผลทำให้การผสมเกสรเป็นไปได้ทั่วถึงและเกิดการติดฝักอย่างสมบูรณ์

สารชนิดอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็มีผลต่อการแสดงเพศดอกบ้างเช่นกัน แต่มักจะไม่เด่นชัด เช่น maleic hydrazide, TIBA และสารในกลุ่มไซโตไคนิน ซึ่งมีผลในทางส่งเสริมการติดดอกตัวเมียในพืชบางชนิดเท่านั้น โดยสรุปแล้วการควบคุมเพศดอกให้ได้อัตราส่วนที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีถึงผลผลิตที่จะได้รับ

ที่มา:พีรเดช ทองอำไพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น