มะเฟือง

มะเฟือง
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Averrhoa carambola L.  ,วงศ์ Oxalidaceae 
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Carambola, Star Fruit หรือ Star Apple
มะเฟืองเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีทั้งลักษณะตั้งตรงและกึ่งเลื้อย เป็นไม้เนื้ออ่อน โตช้า สูงไม่เกิน 30 ฟุต แกนกลางมีไส้คล้ายฟองน้ำสีแดงอ่อน ลำต้นสีน้ำตาล เปลือกลำต้นไม่เรียบ
ใบเป็นใบประกอบ รูปใบมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขนบาง ใบย่อยที่ปลายก้านมักใหญ่ ใบเรียงตัวแบบเกลียว
ดอกมะเฟืองออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ มีสีชมพูอ่อนไปจนถึงเกือบแดงตรงกลางหลอดดอกมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบโค้งงอ โคนกลีบดอกจะมีสีเข้มกว่าปลายกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม
ผลอวบน้ำมีรูปร่างแปลก ยาวได้ถึง 5 นิ้ว ผลหยักเว้าเป็นร่องลึก 5 ร่อง ผลอ่อนสีเขียว สุกแล้วมีสีเหลืองใส เปลือกผลบางเรียบมันรับประทานได้ เวลาหั่นขวางจะเป็นรูปดาวสวยงาม  มีเมล็ดรีสีน้ำตาล สามารถกินได้ทั้งผลสุกและผลอ่อน
เชื่อว่ามะเฟืองมีถิ่นกำเนิดแถบศรีลังกาและมะละกา เป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา นิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ ยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย
ที่ฟลอริดาตอนใต้และฮาวาย สหรัฐอเมริกา มีแหล่งเพาะปลูกมะเฟืองเชิงพาณิชย์
พบว่าประเทศมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกมะเฟืองรายใหญ่ที่สุดของโลก
            สายพันธุ์มะเฟืองต้นมะเฟืองมีรูปทรงสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ หรือปลูกเป็นไม้เก็บผลก็ดี
ประเทศไทยปลูกมะเฟืองกันหลายสายพันธุ์ ได้แก่
* มะเฟืองเปรี้ยว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย มีทั้งชนิดผลใหญ่และเล็ก
* มะเฟืองพันธุ์ไต้หวัน ขนาดผลใหญ่พอประมาณ กลีบผลบาง ขอบบิด มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์กวางตุ้ง มีสีขาวนวล ขอบกลีบผลสีเขียว มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์มาเลเซีย ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำ น้ำหนักมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว
มะเฟืองสามารถกินเป็นผลไม้ก็ได้ ปรุงเป็นกับข้าวก็ดี
การกินมะเฟืองของคนไทยมีหลายรูปแบบ เช่น กินผลมะเฟืองสด ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร (เครื่องเคียงแหนมเนือง) หรือจะแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ใบอ่อนของมะเฟืองกินเป็นผักได้ที่ต่างประเทศนำมะเฟืองมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด พบทั้งเป็นส่วนประกอบในสลัดกุ้งก้ามกราม เป็นเครื่องเคียงอาหารเนื้อสัตว์ (ปลา หมู ไก่) ใช้แทนสับปะรดในอาหารจำพวกผัดผัก และเมนูอาหารอบ ปรุงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ทำแยม ทาร์ตและเค้ก และพบในเครื่องดื่มต่างๆ
สรรพคุณทางยา
ภูมิปัญญาไทยมีการใช้มะเฟืองสืบทอดกันมา ดังนี้
ผลมะเฟือง ดับกระหาย แก้ร้อนใน ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้ขจัดรังแค บำรุงเส้นผม ช่วยให้เลือดแข็งตัวง่าย ช่วยระงับความฟุ้งซ่าน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน
ใบและราก ปรุงกินเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ใบสดตำใช้พอกตุ่มอีสุกอีใสและกลากเกลื้อน
ใบต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน
ใบอ่อนและรากมะพร้าว ผสมรวมกันต้มดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่

แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เส้นเอ็นอักเสบ

มะระขี้นก

มะระขี้นกเป็นผักพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย  จัดเป็นพันธุ์หนึ่งของมะระจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantin Linn วงศ์ Cucurbitaceae
ชื่ออังกฤษ Balsam apple, Balsam pear, Bitter cucumber, Bitter gourd, Bitter melon, Carilla fruit
ชื่ออื่นๆ ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู มะระหนู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ ผักไซร้ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป) ชาวปานามาเรียก บัลซามิโน่
มะระขี้นกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นเป็นเถาเลื้อยมีสีเขียวขนาดเล็กมี 5 เหลี่ยม มีขนอยู่ทั่วไป มีมือเกาะซึ่งเปลี่ยนมาจากใบเจริญออกมาจากส่วนของข้อ ใช้สำหรับยึดจับ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ก้านใบยาว ขอบใบเว้าหยักลึกเข้าไปในตัวใบ 5-7  หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร เส้นใบแยกออกจากจุดเดียวกันแล้วแตกเป็นร่างแห มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม
ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน เจริญมาจากข้อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบนอก 5กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบในมี 5 กลีบ สีเหลืองสด ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้มี 3 อัน แต่ละอันมีก้านชูเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีอับเรณู 3 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่แบบหลบใน (inferior ovary) มีรังไข่ 1 อัน stigma 3 คู่ ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน
ผลรูปร่างคล้ายกระสวยสั้นๆ ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลยาว 5-7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกเป็น 3 แฉก
เมล็ดมีรูปร่างกลม รี แบน ปลายแหลมสีฟางข้าว เมื่อแก่เต็มที่มีเมือกสีแดงสดห่อหุ้มเมล็ดอยู่
เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้านธรรมชาติที่ขึ้นได้ทั่วๆ ไป นกจึงชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ ถ้าเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอก ผลิใบทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ๆ มันเกาะได้ เช่น ต้นไม้ใหญ่ แนวรั้วบ้าน เหตุนี้เองมะระลูกเล็กลูกนี้จึงถูกเรียกว่า "มะระขี้นก"

กูปรีหรือโคไพร



ชื่อสามัญ Kouprey
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bos sauveli
กูปรี เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสูงประมาณ 5-6 ฟุต เมื่อยังอ่อนอยู่ลำตัวจะออกสีเทา ต่อเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีสีเทาเข้มจนเกือบดำ เท้าทั้งสี่จะมีสีขาวหม่นคล้ายใส่ถุงเท้า


กูปรีมีเหนียงใต้คอยาวมาก และเหนียงของตัวผู้จะยาวกว่าของตัวเมีย มีสันของกระดูกสันหลังหักลงเป็นโหนก เขาของกูปรีตัวผู้ตรงปลายจะแตกออกเป็นพู่ กูปรีตัวเมียมีเขาเล็กกว่าของ ตัวผู้ และตรงปลายก็ไม่แตกออกเป็นพู่อย่างของตัวผู้
กูปรี ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง อาจอยู่เป็นฝูงเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ชอบหากินตามป่าโปร่ง ป่าเต็ง ป่ารัง มีนิสัยค่อนข้างเปรียว ชอบกินหญ้าและใบพืชบางชนิด ฤดูผสมพันธุ์ของกูปรีจะเริ่มประมาณเดือนเมษายน ตั้งท้องอยู่ประมาณ 9-10 เดือน และจะตกลูกในราวเดือน ธันวากม-มกรากม.
กูปรี เคยมีมากในเขมรและลาว ในไทยก็เคยมีผู้พบบ้างในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ปัจจุบันไม่เคยมีผู้พบ เข้าใจว่าคงหมดไปจากประเทศไทยแล้ว.
ที่มา:พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503

แรด(พันธุ์ชวา)



ชื่อสามัญ Javan rhinoceros
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinoceros sondaicus
สัตว์ป่าที่เราเรียกกันว่าแรดนี้ หมายถึงแรดพันธุ์ชวาซึ่งเป็นเเรดชนิดหนึ่งในจำนวนแรดทั้งห้าชนิดที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน แรดทั้งห้าชนิดดังกล่าวได้แก่แรดพันธุ์ดำ (มีสองนอ)

แรด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่มาก ตัวที่โตเต็มที่สูงเกือบ 6 ฟุต แรดตัวผู้จะมีนออยู่เหนือจมูก ยาวประมาณ 10 นิ้ว และมีนอเดียว ตัวเมียส่วนมากไม่มีนอ แต่ถ้าจะมีก็จะเห็นเป็นเพียงเนื้อนูนขึ้นมาเล็กนัอยเท่านั้น

แรดเป็นสัตว์ที่มีหนังหนามาก และจะเห็นเป็นรอยนูนๆ อยู่เกือบทั่วไป ขาแรดมีขนาดใหญ่แต่สั้น และขาแต่ละข้างจะมีนิ้วเพียง 3 นิ้วเท่านั้น ที่ปลายนิ้วจะมีเล็บกว้าง

หนังของแรดไม่ค่อยมีขน คือมีขนขึ้นเพียงประปรายบางๆ เท่านั้น ปกติสายตาของแรดไม่ค่อยดีนัก แต่จมูกของมันไวต่อการสัมผัสกลิ่นดีมาก
แรด ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบสูงๆ และค่อนข้างรกไปด้วยหนาม และมีแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง ลำห้วย ลำธาร ซึ่งสามารถใช้ดื่มกินและนอนปลักได้ เนื่องจากแรดมีนิสัยชอบนอนแช่เล่นตามปลักหรือตามหนอง
อาหารของแรดได้แก่ใบไม้ กิ่งไม้ เถาไม้ หน่อพืชบางชนิด และลูกไม้บางชนิด แรดมีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำมาก ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปี ตัวเมียจะออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัว ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 8 เดือน ลูกอ่อนจะอยู่กับแม่นานถึง 2 ปี จึงจะสามารถพึ่งตัวเองได้ แรดมีอายุค่อนข้างยืน มีผู้ประมาณไว้ว่าแรดสามารถมีอายุยืนถึง 50 ปี
แรดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปัจจุบันแรดในเมืองไทยหายากมาก อาจพอมีเหลืออยู่บ้างในบริเวณท้องที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ. กาญจนบุรี และตาก กับที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ. อุทัยธานี
ที่มา:พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503

มะระจีน (Bitter Gourd, Balsam Pear, Bitter Cucumber, Leprosy Gourd)



ชื่อวิทยาศาสตร์มะระจีน : Momordica charantia Linn.
ชื่อวงศ์มะระจีน : Cucurbitaceae
ชื่ออังกฤษมะระจีน : Balsam Pear, Bitter Cucumber, Leprosy Gourd,Bitter Gourd
ชื่ออื่นๆ : ผักเหย, ผักไห, มะร้อยรู, มะห่อย, มะไห่, สุพะซู, สุพะเด

ลักษณะมะระจีน ไม้เถา มีมือเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ กว้างยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นซี่ห่างๆ ใบเว้าเป็นแฉกลึก 5-7 แฉก ใบและลำต้นมีขนสากอยู่ทั่วไป ดอกสีเหลือง ออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน รูปแตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก เมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร มะระมี 2 ชนิด คือ มะระไทยหรือมะระขี้นก และมะระจีน ซึ่งต่างกันที่ลักษณะและขนาดของผล ผลมะระขี้นก มีขนาดเล็กกว่า ยาว 3-5 เซนติเมตร ผลรูปกระสวย ผิวขรุขระ สีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีเหลือง ส่วนมะระจีนมีขนาดใหญ่กว่า เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร ยาว 12-30 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก สีเขียวอ่อน ผิวขรุขระ ผลมะระทั้งสองชนิดมีรสขม

การปลูกมะระจีน ขุดหลุมกว้าง 20-30 เซนติเมตร ลึก 20-25 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 กลบทับด้วยดินบางๆ แล้วจึงหยอดเมล็ดลงในหลุมๆ ละ 3-5 เมล็ด กลบทับด้วยดินหนา ไม่เกิน 1 เซนติเมตร ปักค้างเพื่อให้ต้นเลื้อยขึ้นค้าง หลังจากที่ต้นกล้ามีใบจริงแล้ว ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 3 ต้น อายุการเก็บเกี่ยวมะระประมาณ 55-60 วัน

ประโยชน์ทางอาหารมะระจีน : ยอดอ่อน ใบอ่อนและผลอ่อน-นึ่งหรือลวกให้สุก ทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกปลาร้าหรือน้ำพริกปลาทู

ประโยชน์ทางยามะระจีน : แก้เบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด ผลดิบ-กินแก้โรคตับอักเสบ ปวดหัวเข่า ม้าม อักเสบ ผลสุก-ใช้คั้นน้ำทาหน้าแก้สิว เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาเจริญอาหาร แก้โรคลมเข้าข้อหัวเข่าบวม เป็นยาบำรุงน้ำดี เป็นยาขับพยาธิในท้อง ส่วนน้ำคั้นของผลมะระ-แก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย บำรุงระดู

บ่ออนุบาลลูกสัตว์น้ำแบบชาวบ้าน

ชาวบ้านหรือเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จัดสร้างสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเขาขึ้นมาด้วยความคิดที่ว่า ใช้ของและอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย แรงงานจากครอบครัว หรือแรงงานจากเพื่อนบ้าน ที่สำคัญมากคือถูกเงินในการลงทุน

บ่ออนุบาลลูกสัตว์น้ำ ฯ ที่ผมจะเขียนวันนี้ เป็นผลจากที่ผมต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ ได้ไปเห็นและได้ไปรู้มาจากพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ ส่วนรายละเอียดการก่อสร้างก็เก็บความมาจากเกษตรกรฯ ที่ดำเนินการในจังหวัดดังกล่าว

พื้นที่ที่เหมาะสมที่จะอนุบาลลูกสัตว์น้ำ ฯ ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เพราะภาวะในการอนุบาลนั้นต้องการ น้ำทั้ง 3 สภาวะ เกษตรกรฯ ในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวจึงเหมาะสมในการเลือกสถานที่ ส่วนผู้ที่มีทุนรอนสูงหรือจะเรียกว่าเกษตรกร ฯ ระดับกลาง หรือ ระดับสูงจะเลือกสถานที่เป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่การลงทุนนั้นในการดำเนินการจะสูงด้วย

ขอเริ่มด้วยพื้นที่ที่จะดำเนินการ มีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา(1 งาน) สำหรับเกษตรกร ฯ ขั้นแรกนั้นเพียงพอแล้ว แต่ถ้าให้ดีควรมีประมาณ 400 ตารางวา(1 ไร่) เพื่อเป็นที่อยู่และโอกาสการขยายงานในภายหน้า ที่ไปเห็นมา เกษตรกร ฯ จะใช้ที่ว่างหลังบ้านหรือข้าง ๆ บ้านเป็นที่ดำเนินการ

ในการดำเนินงาน เกษตรกร ฯ จะดำเนินงานเป็นขั้นตอนดังนี้

1. กำหนดสถานที่และกำหนดผัง

รายละเอียดการดำเนินงานเป็นไปดังนี้

1.1 กำหนดผังบ่อและรางระบายน้ำ

จะต้องรู้ว่าบ่อจำนวนเท่าไร วางรูปบ่ออย่างไร จึงจะปฏิบัติงานและดำเนินงานสะดวก น้ำที่จะนำมาเข้าบ่อ อยู่บริเวณไหน และรางน้ำทิ้งอยู่อย่างไร

1.2 กำหนดสถานที่ตั้งบ่อ

เป็นการกำหนดบ่อรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ม. สูง 60 ซม. โดยมีระยะต่อระยะเคียง

2. งานวางฐานราก

2.1 ปรับพื้นที่ฐาน

ทำการกำจัดต้นไม้ ใบไม้ ไม้ รากไม้ ฯลฯ ออกให้หมด เอาหน้าดินออก

2.2 ตอกเสาเข็ม

พื้นดินที่ไม่แน่นนัก ให้ตอกเสาเข็มช่วย ระยะเคียง ระยะต่อ ขนาดและความยาวของเสาเข็ม แล้วแต่ความแน่นของดิน และน้ำหนักของคอนกรีต บ่อ น้ำ ฯลฯ ที่จะกดลงมาที่ฐานราก ให้ปลายเข็ม โผล่จากระดับดินที่ปรับเล็กน้อย

2.3 ตีไม้แบบ

กำหนดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส(วางบ่อเดี่ยว) สี่เหลี่ยมผืนผ้า(วางบ่อคู่,หรือวางบ่อเป็นแถว) ทำการตีไม้แบบ โดยให้สูงกว่าระดับดินที่ปรับ 3 ½ นิ้ว

2.4 ผูกเหล็กหรือไม้ไผ่

เพื่อเป็นโครงยึดคอนกรีต ป้องกันการแตกของฐานราก

2.5 วางท่อน้ำ

จัดวางท่อน้ำที่จุดศูนย์กลางบ่อ ท่อทิ้งน้ำบรรจบกับรางระบายน้ำ วางลาดเอียงสู่รางระบายน้ำ

3. งานเทปูน

3.1 งานเทปูนฐานราก

ต่อจากข้อ 2 เทปูนฐานราก สูงจากระดับปรับผิวดิน 3.5 นิ้ว โดยใช้ปูน 2 ลูก ผสมทรายและหิน ต่อการวางฐานบ่อกลม 1 ลูก

3.1.1 งานเทปูนภายในรัศมีบ่อกลม

ภายในรัศมีบ่อกลม เทปูนเป็นรูปท้องกระทะหรือรูปกรวย ลงสู่จุดศูนย์กลางบ่อ(ข้อ2.5) เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดบ่อ

3.1.2 งานเทปูนภายนอกรัศมีบ่อกลม

เทปูนเสมอ หรือลาดเอียงลงมาที่รางระบายน้ำเพื่อความสะดวกในการทำงาน น้ำจะไม่ค้างอยู่รอบขอบบ่อ

งานเทปูนฐานราก 3.1.1 และ 3.1.2 ต้องเทปูนให้ เสร็จภายในครั้งเดียวและบ่มคอนกรีตระยะหนึ่ง ถึงจะดำเนินการขั้นต่อไป

ข้อ 3.1.1 และ 3.1.2 บางโอกาส

เกษตรกรใช้วิธีเทฐานเรียบเสมอ ต่อเมื่อวางรูปบ่อเสร็จแล้ว จึงทำที่ลาดเอียงโดยเอาซีเมนต์เสริมข้างบ่อกลมอีกครั้งหนึ่ง

3.2 งานเทปูนรูปบ่อกลม

3.2.1 งานวางแบบ

ใช้แบบเหล็กกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร จัดยืมจากส่วนราชการ (สำหรับจัดทำแท้งคอนกรีตเก็บน้ำกิน) หรือจัดทำแบบขึ้นมาเองจากร้านกิจการเครื่องเหล็ก ราคาประมาณ 5,000-10,000 บาท โดยมีส่วน ภายใน 3 ชิ้นส่วน และส่วนภายนอก 4 ชิ้นส่วน มาประกอบกัน

3.2.2 งานเทปูน

ใช้ปูน 1 ½ ลูก ผสมทราย อิฐ เทภายในรูปแบบ ทิ้งไว้ 24 ซม. ก็สามารถแกะแบบ นำไปเทในฐานอื่น ๆ ต่อไป

ถ้าจะให้แข็งแรงควรผูกไม้ไผ่หรือผูกเหล็กประกอบด้วย จะมีความแข็งแรงคงทนมากขึ้น

ในการดำเนินการเทปูน เกษตรกรจะทำการเทฐานไล่ไปตามลำดับ ในขณะที่ฐานแข็งแรงแน่นพอสามารถรับน้ำหนักได้ เขาก็จะเทรูปบ่อกลม เริ่มไล่ไปแต่ฐานแรกไปเรื่อยๆ จนเสร็จ

การลงทุนของบ่อกลม 1 ลูก เบ็ดเสร็จอยู่ในวงเงินหนึ่งพันบาทไม่รวมค่าแรง สามารถจุน้ำได้ประมาณ 1,800 ลิตร

ขอให้ข้อสังเกตหน่อย ฐานของบ่อ ควรจะเป็นฐานบ่อเดี่ยวมากกว่าคู่ หรือเป็นแถวเพราะขณะดำเนินการเลี้ยงลูกสัตว์น้ำ เพาะกุ้งก้ามกราม และอนุบาลลูกปลากะพงนั้น แต่ละบ่อจะดำเนินการไม่พร้อมกัน ทำให้แรงกดดันของฐานไม่เท่ากัน ผลทำให้เกิดการแตกร้าวขึ้นได้ ถ้าถึงเวลานั้น การซ่อมแซมจะทำได้ยากมาก จึงควรดำเนินการต่าง ๆ อย่างดีมาโดยตลอดด้วย

เท่าที่เห็นมาเกษตรกรใช้การร่วมแรงกันทำ หรือแรงงานในครอบครัวดำเนินการ

ถ้ามีการรวมกลุ่มเกษตรกรหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาอีกอย่าง กิจการรูปแบบนี้จะเจริญเร็ว ขอเพียงแต่คนของรัฐอย่าเข้าไปหาผลประโยชน์เข้าก็แล้วกัน

คุณประโยชน์ของว่านหางจรเข้

นิตยสาร “ชาวเกษตร” ฉบับที่ 21 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 26 ในหัวเรื่องเกษตรแดนไกล ได้ลงเรื่อง “ต้นหางจรเข้” โดย คุณหรรษา จักรพันธ์ ได้กล่าวถึงสรรพคุณของว่าหางจรเข้ไว้ถึง 25 ประการด้วยกัน จะต้องขอกล่าวถึงว่านชนิดนี้กันอีกสักครั้งคงไม่ว่าอะไรกันนะ ผมได้อ่านหนังสือ คู่มือการใช้ว่านหางจรเข้ ของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาขยับขยายเล่าสู่กันฟัง เขามีอะไรดี ๆ หลายอย่างที่กล่าวถึงสรรพคุณของว่านหางจรเข้ ส่วนวิธีการใช้การปลูก ถ้าจะนำมากล่าวในที่นี้หน้ากระดาษคงจะไม่เพียงพอ เลยลองสรุปให้เป็นตัวอย่างสักสอง-สามอย่างก็แล้วกัน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับชาวบ้านที่อยู่ในตำบลหรืออำเภอที่ไกลออกไป เพราะการสาธารณสุขนั้น ยังไม่สามารถเข้าไปได้ถึงจึงเป็นโอกาสของโครงการสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง ก็แล้วกัน


น้ำยาที่ทำจากว่านหางจรเข้ ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ขนาดรุนแรงได้ โดยการทาน้ำเมือกจากต้นว่านหางจรเข้ ทาอยู่เสมอ ๆ ถ้าน้ำเมือกแห้ง ก็ขูดวุ้นต่อจะมีน้ำเมือกออกมาอีก ทาเช่นนี้เสมอตลอด 2 วันตั้งแต่เริ่มเป็น แผลนั้นจะหายได้อย่างเร็ว ส่วนอาการเจ็บแผลนั้นมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยวิธีการรักษาด้วยว่านหางจร เข้กับแผลไฟไหม้ไฟลวกนี้ยังมีหลักฐานยืนยันจาก คุณสุคนธ์ จุฬจมบก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตตลิ่งชัน กทม. นี่เอง คุณสุคนธ์ โดนไฟจากถังแก๊สหุงต้มลวกที่ใบหน้าตามแขนและลำตัว มีอาการพุพอง อักเสบอันเนื่องจากพิษไฟมาประมาณเกือน 1 อาทิตย์ เมื่อได้รับคำแนะนำวิธีการใช้ว่านหางจรเข้ ก็เริ่มทำตามอาการปวดแสบ ปวดร้อน จากพิษบาดแผลค่อย ๆ ทุเลาลงและหายเป็นปกติในระยะเวลาเพียงแค่ 1 อาทิตย์เท่านั้น และไม่มีรอยแผลเป็นปรากฎอยู่เลย

เมื่อถูกของมีคมบาดหรือเป็นแผลอื่น ๆ ทำความสะอาดแผลแล้ว เอาวุ้นหางจรเข้แปะลงไปที่แผลให้สนิท แล้วเอาผ้าปิดไว้ หยอดน้ำเมือกลงไปที่ผ้าตรงรอยแผลให้เปียกอยู่ตลอด ถ้ามีขี้ผึ้งหางจรเข้ก็ใช้ทาแทนได้ จะช่วยให้แผลหายเร็ว และลบรอยแผลเป็นได้ด้วย

คนที่เป็นริดสีดวงทวาร ทั้งปวดทั้งคันอย่าบอกใคร นั่งก็ไม่ได้ เดินก็ไม่สะดวก ทรมานทรกรรมเหลือเกิน สามารถบรรเทาอาการที่ว่านี้ได้ด้วยการใช้วุ้นหางจรเข้ ก้อนขนาดเท่าครึ่งหนึ่งของนิ้วมือสอดเข้าไปในทวาร แต่ปัจจุบันมีขี้ผึ้งหางจรเข้ใช้แตะปลายนิ้วแล้วสอดเข้าไป ใช้สะดวกสบายดี หรือบางคนใช้น้ำว่านหางจรเข้ 1 ช้อนโต๊ะใส่หลอดฉีดยาฉีดน้ำเมือกเข้าไปในทวารทำกี่ครั้งก็ได้ ถ้าจะให้ดีควรทำหลังถ่ายหนักหรือ อาบน้ำก่อนนอน

ท้องลายเป็นปัญหาของหญิงหลังคลอด ลองใช้น้ำว่านหางจรเข้ทาทั้งตอนกำลังท้องและหลังคลอดแล้ว รับรองท้องคุณไม่ลาย ไม่บอกก็ไม่มีคนรู้ว่ามีลูกแล้ว-สามคน

สิวมักจะเป็นปัญหาสำหรับวัยหนุ่มสาว ลองใช้น้ำว่านหางจรเข้ทาตามใบหน้า จะลดคราบไขมันและประสานแผลริ้วรอยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผิวหน้ามีน้ำมีนวลชวนมองเสียอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น หืด หอบ ไซนัส ฯลฯ แต่บอกไว้ในตอนต้นแล้วว่าไม่อาจจะกล่าวให้จบได้ในจำนวนหน้ากระดาษที่จำกัด จึงขอแนะนำให้ซื้อหนังสือ “คู่มือการใช้ว่านหางจรเข้” ของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ไว้สักเล่มราคาก็ถูกมากเพียงแค่ 12 บาทเท่านั้น อยู่ตามต่างจังหวัดหาซื้อไม่ได้ก็จ.ม. สั่งซื้อได้ที่สนง.นิตยสาร “ชาวเกษตร” เรายินดีรับเป็นธุระจัดการซื้อส่งให้โดยเพิ่มค่าส่งมาอีก 3 บาท เป็นค่าส่งลงทะเบียน(รวมเป็น 15 บาท) ก็จะส่งถึงได้ทันที หนังสือดีราคาถูกอย่างนี้มีไว้ ไม่ต้องเดินหาซื้อให้เมื่อยน่อง ใครจะว่าเชียร์หนังสือเล่มนี้ก็ว่าเถอะ เพราะเห็นว่าของดีถ้ารู้แล้วอุบเก็บเอาไว้ก็หาได้มีประโยชน์อันใดไม่ อ่านแล้วหาว่านหางจรเข้มาปลูกขยายพันธุ์เอาไว้ที่บ้าน การปลูกก็ไม่ยากเย็นอะไร เพราะเป็นต้นไม้ที่ทนทาน ขอให้ถูกแสงแดดบ้างพอรำไร ดินระบายน้ำได้ดีก็เป็นพอ ขอเพื่อนขอฝูงไว้สักต้นสองต้นปลูกขยายพันธุ์เอาไว้ ตามวัดตามวาก็พอจะหาได้ไม่ยาก ถ้าใครที่อยู่กรุงเทพฯหรือใกล้ ๆ หาไม่ได้จริง ๆ ลองแวะมาที ส.น.ง.นิตยสาร “ชาวเกษตร” ที่นี่เขาขยายพันธุ์กันไว้พอมีหลายต้น พอมีจำหน่ายจ่ายแจกกันได้บ้าง แต่ถ้าอยู่ตามต่างจังหวัด ก็เห็นจะจนด้วยเกล้า เพราะไม่รู้ว่าจะส่งไปให้ท่านได้อย่างไร? ถ้ามีโอกาสเดินทางมากรุงเทพฯ ก็ลองมาและมาดูก็ได้ หาปลูกขยายพันธุ์กันไว้เถิด คงจะไม่เสียหลาย อย่างน้อยเกิดไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้ปฐมพยาบาลก่อนก็ยังดี