บ่ออนุบาลลูกสัตว์น้ำแบบชาวบ้าน

ชาวบ้านหรือเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จัดสร้างสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเขาขึ้นมาด้วยความคิดที่ว่า ใช้ของและอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย แรงงานจากครอบครัว หรือแรงงานจากเพื่อนบ้าน ที่สำคัญมากคือถูกเงินในการลงทุน

บ่ออนุบาลลูกสัตว์น้ำ ฯ ที่ผมจะเขียนวันนี้ เป็นผลจากที่ผมต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ ได้ไปเห็นและได้ไปรู้มาจากพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ ส่วนรายละเอียดการก่อสร้างก็เก็บความมาจากเกษตรกรฯ ที่ดำเนินการในจังหวัดดังกล่าว

พื้นที่ที่เหมาะสมที่จะอนุบาลลูกสัตว์น้ำ ฯ ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เพราะภาวะในการอนุบาลนั้นต้องการ น้ำทั้ง 3 สภาวะ เกษตรกรฯ ในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวจึงเหมาะสมในการเลือกสถานที่ ส่วนผู้ที่มีทุนรอนสูงหรือจะเรียกว่าเกษตรกร ฯ ระดับกลาง หรือ ระดับสูงจะเลือกสถานที่เป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่การลงทุนนั้นในการดำเนินการจะสูงด้วย

ขอเริ่มด้วยพื้นที่ที่จะดำเนินการ มีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา(1 งาน) สำหรับเกษตรกร ฯ ขั้นแรกนั้นเพียงพอแล้ว แต่ถ้าให้ดีควรมีประมาณ 400 ตารางวา(1 ไร่) เพื่อเป็นที่อยู่และโอกาสการขยายงานในภายหน้า ที่ไปเห็นมา เกษตรกร ฯ จะใช้ที่ว่างหลังบ้านหรือข้าง ๆ บ้านเป็นที่ดำเนินการ

ในการดำเนินงาน เกษตรกร ฯ จะดำเนินงานเป็นขั้นตอนดังนี้

1. กำหนดสถานที่และกำหนดผัง

รายละเอียดการดำเนินงานเป็นไปดังนี้

1.1 กำหนดผังบ่อและรางระบายน้ำ

จะต้องรู้ว่าบ่อจำนวนเท่าไร วางรูปบ่ออย่างไร จึงจะปฏิบัติงานและดำเนินงานสะดวก น้ำที่จะนำมาเข้าบ่อ อยู่บริเวณไหน และรางน้ำทิ้งอยู่อย่างไร

1.2 กำหนดสถานที่ตั้งบ่อ

เป็นการกำหนดบ่อรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ม. สูง 60 ซม. โดยมีระยะต่อระยะเคียง

2. งานวางฐานราก

2.1 ปรับพื้นที่ฐาน

ทำการกำจัดต้นไม้ ใบไม้ ไม้ รากไม้ ฯลฯ ออกให้หมด เอาหน้าดินออก

2.2 ตอกเสาเข็ม

พื้นดินที่ไม่แน่นนัก ให้ตอกเสาเข็มช่วย ระยะเคียง ระยะต่อ ขนาดและความยาวของเสาเข็ม แล้วแต่ความแน่นของดิน และน้ำหนักของคอนกรีต บ่อ น้ำ ฯลฯ ที่จะกดลงมาที่ฐานราก ให้ปลายเข็ม โผล่จากระดับดินที่ปรับเล็กน้อย

2.3 ตีไม้แบบ

กำหนดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส(วางบ่อเดี่ยว) สี่เหลี่ยมผืนผ้า(วางบ่อคู่,หรือวางบ่อเป็นแถว) ทำการตีไม้แบบ โดยให้สูงกว่าระดับดินที่ปรับ 3 ½ นิ้ว

2.4 ผูกเหล็กหรือไม้ไผ่

เพื่อเป็นโครงยึดคอนกรีต ป้องกันการแตกของฐานราก

2.5 วางท่อน้ำ

จัดวางท่อน้ำที่จุดศูนย์กลางบ่อ ท่อทิ้งน้ำบรรจบกับรางระบายน้ำ วางลาดเอียงสู่รางระบายน้ำ

3. งานเทปูน

3.1 งานเทปูนฐานราก

ต่อจากข้อ 2 เทปูนฐานราก สูงจากระดับปรับผิวดิน 3.5 นิ้ว โดยใช้ปูน 2 ลูก ผสมทรายและหิน ต่อการวางฐานบ่อกลม 1 ลูก

3.1.1 งานเทปูนภายในรัศมีบ่อกลม

ภายในรัศมีบ่อกลม เทปูนเป็นรูปท้องกระทะหรือรูปกรวย ลงสู่จุดศูนย์กลางบ่อ(ข้อ2.5) เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดบ่อ

3.1.2 งานเทปูนภายนอกรัศมีบ่อกลม

เทปูนเสมอ หรือลาดเอียงลงมาที่รางระบายน้ำเพื่อความสะดวกในการทำงาน น้ำจะไม่ค้างอยู่รอบขอบบ่อ

งานเทปูนฐานราก 3.1.1 และ 3.1.2 ต้องเทปูนให้ เสร็จภายในครั้งเดียวและบ่มคอนกรีตระยะหนึ่ง ถึงจะดำเนินการขั้นต่อไป

ข้อ 3.1.1 และ 3.1.2 บางโอกาส

เกษตรกรใช้วิธีเทฐานเรียบเสมอ ต่อเมื่อวางรูปบ่อเสร็จแล้ว จึงทำที่ลาดเอียงโดยเอาซีเมนต์เสริมข้างบ่อกลมอีกครั้งหนึ่ง

3.2 งานเทปูนรูปบ่อกลม

3.2.1 งานวางแบบ

ใช้แบบเหล็กกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร จัดยืมจากส่วนราชการ (สำหรับจัดทำแท้งคอนกรีตเก็บน้ำกิน) หรือจัดทำแบบขึ้นมาเองจากร้านกิจการเครื่องเหล็ก ราคาประมาณ 5,000-10,000 บาท โดยมีส่วน ภายใน 3 ชิ้นส่วน และส่วนภายนอก 4 ชิ้นส่วน มาประกอบกัน

3.2.2 งานเทปูน

ใช้ปูน 1 ½ ลูก ผสมทราย อิฐ เทภายในรูปแบบ ทิ้งไว้ 24 ซม. ก็สามารถแกะแบบ นำไปเทในฐานอื่น ๆ ต่อไป

ถ้าจะให้แข็งแรงควรผูกไม้ไผ่หรือผูกเหล็กประกอบด้วย จะมีความแข็งแรงคงทนมากขึ้น

ในการดำเนินการเทปูน เกษตรกรจะทำการเทฐานไล่ไปตามลำดับ ในขณะที่ฐานแข็งแรงแน่นพอสามารถรับน้ำหนักได้ เขาก็จะเทรูปบ่อกลม เริ่มไล่ไปแต่ฐานแรกไปเรื่อยๆ จนเสร็จ

การลงทุนของบ่อกลม 1 ลูก เบ็ดเสร็จอยู่ในวงเงินหนึ่งพันบาทไม่รวมค่าแรง สามารถจุน้ำได้ประมาณ 1,800 ลิตร

ขอให้ข้อสังเกตหน่อย ฐานของบ่อ ควรจะเป็นฐานบ่อเดี่ยวมากกว่าคู่ หรือเป็นแถวเพราะขณะดำเนินการเลี้ยงลูกสัตว์น้ำ เพาะกุ้งก้ามกราม และอนุบาลลูกปลากะพงนั้น แต่ละบ่อจะดำเนินการไม่พร้อมกัน ทำให้แรงกดดันของฐานไม่เท่ากัน ผลทำให้เกิดการแตกร้าวขึ้นได้ ถ้าถึงเวลานั้น การซ่อมแซมจะทำได้ยากมาก จึงควรดำเนินการต่าง ๆ อย่างดีมาโดยตลอดด้วย

เท่าที่เห็นมาเกษตรกรใช้การร่วมแรงกันทำ หรือแรงงานในครอบครัวดำเนินการ

ถ้ามีการรวมกลุ่มเกษตรกรหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาอีกอย่าง กิจการรูปแบบนี้จะเจริญเร็ว ขอเพียงแต่คนของรัฐอย่าเข้าไปหาผลประโยชน์เข้าก็แล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น