มะระขี้นกเป็นผักพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย จัดเป็นพันธุ์หนึ่งของมะระจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantin Linn วงศ์ Cucurbitaceae
ชื่ออังกฤษ Balsam apple, Balsam pear, Bitter cucumber, Bitter gourd, Bitter
melon, Carilla fruit
ชื่ออื่นๆ ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด
(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู มะระหนู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช)
ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ ผักไซร้ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก
มะระขี้นก (ทั่วไป) ชาวปานามาเรียก บัลซามิโน่
มะระขี้นกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นเป็นเถาเลื้อยมีสีเขียวขนาดเล็กมี 5 เหลี่ยม มีขนอยู่ทั่วไป
มีมือเกาะซึ่งเปลี่ยนมาจากใบเจริญออกมาจากส่วนของข้อ ใช้สำหรับยึดจับ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน
ก้านใบยาว ขอบใบเว้าหยักลึกเข้าไปในตัวใบ 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร
เส้นใบแยกออกจากจุดเดียวกันแล้วแตกเป็นร่างแห มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย
เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม
ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน
เจริญมาจากข้อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 เซนติเมตร
มีกลีบนอก 5กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบในมี 5 กลีบ สีเหลืองสด ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้มี 3 อัน แต่ละอันมีก้านชูเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีอับเรณู
3 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่แบบหลบใน (inferior ovary) มีรังไข่ 1 อัน stigma 3 คู่
ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน
ผลรูปร่างคล้ายกระสวยสั้นๆ
ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลยาว 5-7 เซนติเมตร
เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว
เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกเป็น 3 แฉก
เมล็ดมีรูปร่างกลม รี แบน
ปลายแหลมสีฟางข้าว เมื่อแก่เต็มที่มีเมือกสีแดงสดห่อหุ้มเมล็ดอยู่
เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้านธรรมชาติที่ขึ้นได้ทั่วๆ ไป
นกจึงชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ
ถ้าเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอก ผลิใบทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ๆ มันเกาะได้
เช่น ต้นไม้ใหญ่ แนวรั้วบ้าน เหตุนี้เองมะระลูกเล็กลูกนี้จึงถูกเรียกว่า
"มะระขี้นก"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น