การเกิดราก
รากพืชทำหน้าที่สำคัญในการดูดนํ้าและธาตุอาหาร เพื่อเลี้ยงต้นพืชทั้งต้น การเจริญของรากตามปกติต้องอาศัยฮอร์โมนที่ส่งมาจากลำต้นหรือจากที่สร้างขึ้นเองที่ปลายรากเพื่อใช้ในการเติบโตยืดยาวออกไปเรื่อยๆ ฮอร์โมนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของรากคือ ออกซิน รากต้องการออกซินปริมาณตํ่ามาก เพื่อการเติบโต ในกรณีที่มีออกซินมากเกินไป จะทำให้รากหยุดชะงักการเติบโตได้ แต่ในการเกิดจุดกำเนิดรากนั้นพืชต้องการออกซินความเข้มสูงมากระตุ้น จากหลักการอันนี้ เราจึงได้นำออกซินมาใช้ประโยชน์ในการเร่งรากของกิ่งปักชำและกิ่งตอน การเกิดรากของกิ่งปักชำและกิ่งตอนของพืชโดยทั่วๆ ไปเกิดได้ 2 กรณีคือ เกิดมาจากจุดกำเนิดรากที่มีอยู่แล้วในกิ่ง และอีกกรณีหนึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อเจริญซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกิ่งพืชมีรอยแผล การใช้สารออกซินแก่กิ่งพืชในทั้ง 2 กรณีนี้จะช่วยให้เกิดรากได้เร็วขึ้นและมากขึ้น โดยที่ถ้าเป็นกรณีแรกออกซินจะกระตุ้นให้จุดกำเนิดรากนั้นพัฒนาออกมาเป็นราก และถ้าเป็นกรณีหลัง ออกซินจะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อเจริญในบริเวณรอยแผลเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมคือ ความชื้นสูง ออกซิเจนเพียงพอและอุณหภูมิพอเหมาะ จะทำให้เนื้อเยื่อเจริญนั้นเปลี่ยนรูปไปเป็นจุดกำเนิดราก และพัฒนาออกมาเป็นรากได้ในภายหลัง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องการออกซินเป็นตัวกระตุ้นเช่นกัน
ในการเกิดรากของกิ่งปักชำและกิ่งตอนนั้นมีปัจจัยต่างๆ นอกเหนือจากออกซิน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายประการ ได้แก่ ชนิดของกิ่ง ฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้น องค์ประกอบของวัสดุที่ใช้ปักชำหรือตอน ความอุดมสมบูรณ์ของกิ่งซึ่งรวมถึงอาหารสะสมภายในกิ่ง และวิตามินต่างๆ
ออกซินที่นิยมใช้ในการเร่งรากของกิ่งปักชำและกิ่งตอนคือ IBA และ NAA โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IBA สลายตัวได้เร็วพอประมาณซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเร่งราก เพราะในช่วงที่มีการเปลี่ยนจากเนื้อเยื่อเจริญมาเป็นจุดกำเนิดรากนั้นต้องอาศัยเวลาพอสมควร ซึ่งในระหว่างช่วงนี้ IBA สามารถสลายตัวจนเหลือความเข้มข้นตํ่าซึ่งเหมาะสมในการเปลี่ยนจุดกำเนิดรากไปเป็นราก การผสมสาร IBA รวมกับ NAA เพื่อเร่งรากจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้สารใดสารหนึ่งเพียงอย่างเดียว
วิธีการใช้สารเร่งรากกิ่งปักชำ
การใช้สารออกซินเร่งรากกิ่งปักชำ ทำได้หลายวิธี เช่น การจุ่มกิ่งในสาร การพ่นสารไปที่ต้นหรือกิ่งก่อนตัดมาปักชำ การฉีดสารเข้าไปในกิ่ง หรือการผสมสารในรูปครีมทาที่โคนกิ่ง แต่วิธีการที่นิยมใช้ทั่วไปมีอยู่ 3 วิธีคือ
1. การจุ่มอย่างรวดเร็ว (quick dip method) วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็ว ใช้ อุปกรณ์น้อย สารที่ใช้ในวิธีนี้เป็นออกซินความเข้มข้นสูง (ประมาณ 500 ถึง 1.0,000 มก/ล) ซึ่งใช้แอลกอฮอล์ 50% เป็นตัวทำละลาย แอลกอฮอล์ที่ใช้นี้จะช่วยให้สารละลายไม่ตกตะกอน และยังช่วยให้กิ่งพืชดูดซึมสารได้ดีขึ้น แต่ถ้าใช้แอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงกว่านี้จะเป็นอันตรายต่อกิ่งพืช วิธีการให้สารทำโดยจุ่มปลายกิ่งทางด้านฐานลงในสารละลายดังกล่าวเป็นเวลาประมาณไม่เกิน 5 วินาที โดยให้ปลายกิ่งจุ่มอยู่ในสารประมาณ 2.5 ซม (1 นิ้ว) แล้วจึงนำไปปักชำ สารออกซินสามารถซึมผ่านเข้าทางเนื้อเยื่อที่จุ่มอยู่ในสารเข้าทางรอยแผล รอยตัด และรอยแผลเป็นบนกิ่งได้ดี และถ้าใช้มีดกรีดโคนกิ่งให้เป็นรอยก่อนจุ่มสาร ก็จะช่วยให้กิ่งพืชได้รับสารมากขึ้น การให้สารโดยวิธีนี้เหมาะสำหรับการปักชำกิ่งแก่และกิ่งพืชทั่วๆ ไป
2. การแช่กิ่งในสาร (prolonged soaking method) วิธีนี้ใช้สาร
ออกซินความเข้มข้นตํ่า (ประมาณ 20 ถึง 200 มก/ ล) และใช้แอลกอฮอล์ความเข้มข้นตํ่ามากๆ หรือใช้นํ้าเป็นตัวทำละลาย วิธีการให้สารแบบนี้ทำคล้ายกับวิธีแรก แต่จะแช่กิ่งทิ้งไว้ในสารละลายประมาณ 1 ถึง 24 ชั่วโมง โดยวางไว้ในที่ร่ม หลังจากนั้นจึงนำกิ่งไปปักชำ การให้สารโดยวิธีนี้ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในขณะให้สารและชนิดของพืชด้วยเพราะจะมีผลต่อการดูดซึมสาร ในสภาพแห้งและอากาศร้อนจะทำให้การดูดซึมและการเคลื่อนย้ายของสารในกิ่งเกิดมากเกินไปซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสีย วิธีการแช่กิ่งในสารอาจดัดแปลงได้อีกเพื่อความสะดวกในการปักชำกิ่งพืชครั้งละมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิ่งอ่อนที่มีใบติดอยู่ด้วย เช่นผกากรองหนู เข็มญี่ปุ่น วิธีการทำคือ ตัดกิ่งพืชให้อยู่ ลักษณะพร้อมที่จะปักชำ (เช่นริดใบล่างออกเรียบร้อยแล้ว) แล้วใส่ลงในถัง เมื่อได้กิ่งปริมาณมากพอสมควร จึงเทสารละลายออกซินความเข้มข้นตํ่าที่ผสมเรียบร้อยแล้วลงไปในถัง ให้ท่วมกิ่งพืชทั้งหมด ทิ้งไว้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จึงนำไปปักชำพร้อมกัน
ข้อดีของการให้สารโดยการแช่กิ่งคือไม่เปลืองสาร เนื่องจากใช้ความเข้มข้นตํ่ามาก และนำกลับมาใช้ดี้ก 2-3 ครั้ง แต่ข้อเสียคือ ใช้เวลามากกว่าวิธีการจุ่มอย่างรวดเร็ว และอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของจุลินทรีย์จากกิ่งหนึ่งไปยังกิ่งอื่นๆ ได้ โดยผ่านทางสารละลายที่แช่อยู่
3. การให้สารแบบผง (powder method) วิธีนี้เป็นการให้สารออกซินในรูปผง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IBA ซึ่งนิยมผลิตออกมาในรูปนี้ ถ้าเป็นกิ่งอ่อนหรือกิ่งที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต จะใช้สารความเข้มข้นประมาณ 200 ถึง 1,000 มก/ล แต่ถ้าเป็นกิ่งแก่หรือกิ่งพักตัวจะใช้ความเข้มข้นสูงกว่านี้ประมาณ 5 เท่า วิธีการให้สารคือจุ่มปลายกิ่งทางด้านฐานลงในนํ้าเพื่อให้เปียก ก่อนนำไปจุ่มในผงของสารแล้วเคาะผงของสารส่วนเกินออกให้หมด จากนั้นจึงนำกิ่งไปปักชำ โดยต้องระมัดระวังไม่ให้ผงของสารที่เกาะติดอยู่บนกิ่งหลุดออกในระหว่างปักลงในวัสดุปักชำ วิธีการที่ดีคือต้องเจาะช่องลงไปในวัสดุปักชำก่อน แล้วจึงปักชำกิ่งลงในช่องนั้น การใช้สารในรูปผง มีข้อเสียคือ กิ่งปักชำได้รับสารไม่สมํ่าเสมอกันเพราะว่าแต่ละกิ่งมีผงของสารเกาะติดอยู่มากหรือน้อยต่างกัน และผงของสารอาจหลุดออกในขณะที่ปักชำ วิธีการใช้ค่อนข้างยุ่งยาก แต่มีข้อดี คือ การในรูปผงเก็บไว้ได้นานกว่าในรูปสารละลาย ดังนั้นถ้ามีกิ่งปักชำไม่มาก และใช้ไม่บ่อยครั้ง จึงควรใช้วิธีนี้
วิธีการเร่งรากกิ่งตอน
การออกรากของกิ่งตอนมีหลักการเหมือนกับกิ่งปักชำ การตอนกิ่งแตกต่างจากการชำกิ่งตรงที่การตอนเป็นการทำบาดแผลบนกิ่งพืชและกระตุ้นให้เกิดรากในขณะที่กิ่งนั้นยังติดอยู่บนต้น การให้สารออกซินแก่กิ่งตอนทำได้หลายวิธีดังนี้
1. การใช้สารละลายออกซินความเข้มข้นตํ่าเช่นสาร NAA พ่นไปบนใบของกิ่งที่จะทำการตอน ออกซินสามารถเคลื่อนที่ผ่านใบลงไปตามกิ่งและเมื่อถึงรอยควั่นหรือรอยแผล จะมีการสะสมในบริเวณนั้นและกระตุ้นให้เกิดรากได้ตามกระบวนการที่กล่าวมาแล้ว
2. การใช้สารละลายออกซินความเข้มข้นสูงทาที่รอยแผล เป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทย เพราะทำได้สะดวกและได้ผลค่อนข้างสมํ่าเสมอ การให้สารด้วยวิธีนี้ทำโดยใช้พู่กันจุ่มแล้วทาบางๆ ที่รอยแผลหรือรอยควั่นด้านบน ถ้าสารที่ใช้มีความเข้มข้นสูงเกินไป จะมีการเลื่อนที่ขึ้นด้านบนทำให้ใบร่วงและกิ่งตายได้
3. การใช้สารออกซินที่เตรียมในรูปครีมทาที่รอยแผล เป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในต่างประเทศโดยการผสมสารออกซินในลาโนลินแล้วทาที่รอยแผลโดยรอบ ความเข้มข้นของออกซินที่ใช้มักจะต่ำกว่าการใช้ในรูปสารละลายดังวิธีที่ 2 ออกซินจะถูกปลดปล่อยออกมาจากส่วนผสมลาโนลินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงเหมาะสำหรับกิ่งพืชที่ออกรากได้ช้า
ภายหลังจากการให้สารแล้วจึงทำการหุ้มรอยแผลด้วยวัสดุชื้น เพื่อให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเกิดราก รากพืชที่เกิดจากการใช้สารออกซิน
กระตุ้นจะเหมือนกับรากที่เกิดตามธรรมชาติทุกประการ การให้สารออกซินเป็นเพียงการเพิ่มจำนวนราก ย่นระยะเวลาการเกิดราก และเพิ่มเปอร์เซ็นต์กิ่งที่เกิดราก ซึ่งกิ่งพืชปกติถ้ามีออกซินมากพอก็สามารถเกิดรากได้เช่นกัน แต่อาจไม่ดีเท่าการใช้ออกซินสังเคราะห์เพิ่มเข้าไป
การเร่งรากต้นกล้า
ต้นกล้าพืชที่ย้ายปลูกใหม่ๆ หรือกิ่งตอนกิ่งปักชำที่ออกรากแล้ว เมื่อมีการนำมาปลูกลงกระถางหรือลงแปลงก็ตาม มักจะมีปัญหารากถูกกระทบกระเทือน ฉีกขาดเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นตายเนื่องจากขาดนํ้าเพราะรากดูดนํ้าขึ้นมาไม่เพียงพอ ดังนั้นถ้าเราสามารถเร่งให้ต้นพืชดังกล่าวสร้างรากขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียหายได้เร็วมากเท่าใด โอกาสที่พืชจะรอดตายและเติบโตอย่างรวดเร็วย่อมมีมากขึ้น สารที่นิยมใช้ในกรณีนี้คือ NAA ความเข้มข้นต่ำ และมักมีการผสมวิตามิน บี 1 เพื่อช่วยให้การเจริญของรากดีขึ้น การให้สารทำได้โดยรดลงดินหรือพ่นให้ทางใบ ก่อนหรือภายหลังการย้ายปลูก เกษตรกรบางรายใช้สาร NAA เพื่อช่วยการเกิดรากของกิ่งทาบมะม่วง ซึ่งทำใน 2 กรณีคือ กรณีแรกทำเมื่อย้ายต้นตอจากแปลงปลูกลงถุงโดยถอนต้นตอขึ้นมาและตัดรากบางส่วนออกก่อนจุ่มลงในสารละลาย NAA ความเข้มข้นไม่สูงมากนัก (ไม่เกิน 2,000 มก/ล) ก่อนบรรจุลงถุงซึ่งใส่ขุยมะพร้าวชื้นแล้วจึงนำไปทาบ อีกกรณีหนึ่งอาจให้สารภายหลังจากตัดกิ่งทาบลงมาปลูก โดยจุ่มถุงบรรจุต้นตอลงในสารละลาย NAA ความเข้มข้นตํ่า (100 ถึง 200 มก/ล) ก่อนนำไปปลูกในกระถางวิธีการดังกล่าวสามารถเพิ่มการเกิดรากของต้นตอได้ดีพอสมควร
เทคนิคการใช้สารเร่งราก
การใช้สารออกซินเร่งการเกิดรากพืชไม่ว่าจะเป็นกิ่งปักชำหรือกิ่งตอนก็ตาม จะพบว่าพืชแต่ละชนิดตอบสนองต่อการใช้ออกซินได้ไม่เหมือนกัน บางชนิดต้องการออกซินความเข้มข้นสูง บางชนิดต้องการตํ่า ถ้าจะแบ่งพืชออกเป็นพวกๆ โดยอาศัยความสามารถในการออกรากเป็นหลักจะแบ่งได้เป็น 3 พวกดังนี้
1. พวกที่ออกรากง่าย ส่วนใหญ่เป็นพืชที่ไม่มีเนื้อไม้เช่น ฤษีผสม ดาวเรือง พวกที่มีจุดกำเนิดรากอยู่แล้ว เช่น ไทร และพวกกิ่งอ่อนของพืชทั้งหลาย การใช้ออกซินความเข้มข้นตํ่าก็เพียงพอต่อการกระตุ้นการเกิดรากได้ โดยทั่วไปใช้ออกซิน NAA หรือ IBA ความเข้มข้นประมาณ 500 ถึง 2,000 มก/ล
2. พวกที่ออกรากยากปานกลาง ได้แก่พวกกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ มีเนื้อไม้อาจมีหรือไม่มีจุดกำเนิดรากอยู่ก่อน การใช้ออกซินเร่งรากต้องใช้ความเข้มข้นสูงขึ้น โดยปกติใช้ประมาณ 4,000 ถึง 10,000 มก/ล
3. พวกที่ออกรากยากมาก ได้แก่กิ่งที่พักตัว กิ่งแก่ ไม้ผลที่เติบโตช้า และพืชที่มียางหลายชนิด เช่น มะม่วง มังคุด ขนุน บ๊วย สนชนิดต่างๆ การใช้ออกซินความเข้มข้นตํ่ามักจะ ไม่ได้ผล ต้องใช้ความเข้มข้นสูงมากๆ เช่น 1-2 เปอร์เซ็นต์ (10,000-20,000 มก/ล) ซึ่งบางครั้ง ก็ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ในทางปฏิบัติจริงๆ มักจะเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องหาซื้อออกซินความเข้มข้นต่างๆ กัน สำหรับพืชแต่ละชนิดมาใช้ประโยชน์ ในกรณีที่มีสารออกซินความเข้มข้นสูงอยู่แล้วก็สามารถนำมาใช้กับพวกที่ออกรากง่ายได้เช่นกันโดยการนำสารมาผสมนํ้าให้จางลงจนได้ระดับที่ต้องการ แต่ถ้ามีสารออกซินความเข้มข้นตํ่าอยู่แล้วก็อาจใช้กับพืชพวกที่ออกรากยากได้โดยการจุ่มกิ่งในสารให้นานขึ้นกว่าปกติ
การใช้สารออกซินกับกิ่งพืชที่เกิดรากได้ยากบางครั้งอาจไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นไปได้ว่าภายในกิ่งพืชเหล่านี้มีสารยับยั้งการเจริญเติบโตอยู่เป็นจำนวนมากจนกระทั่งมีผลยับยั้งการเกิดราก และอาจเป็นไปได้ว่ากิ่งพืชขาดสารจำเป็นบางชนิดที่จะทำงานร่วมกับออกซินในการส่งเสริมให้พืชเกิดราก แต่สาเหตุดังกล่าวยังไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นได้เด่นชัด เคยมีการทดลองปักชำและตอนกิ่งมะม่วงในประเทศอินเดีย โดยการใช้สาร IBA กระตุ้นการเกิดราก ปรากฎว่าการให้สาร IBA เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเพิ่ม เปอร์เซ็นต์การเกิดรากไม่มากนัก แต่ถ้ามีการพ่นสาร chlormequat ไปที่กิ่งมะม่วงก่อนตอนหรือปักชำ แล้วใช้ IBA ร่วมด้วย จะมีผลกระตุ้นให้เกิดรากได้ดีขึ้นทั้งในกิ่งตอนและกิ่งปักชำ และยังพบว่ากิ่งที่ได้รับสาร chlormequat จะมีการสะสมคาร์โบไอเดรตภายในกิ่งมากขึ้น และยังมี สารกระตุ้นการเกิดราก ซึ่งไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นสารอะไรเพิ่มมากขึ้นด้วย เกษตรกรบางรายมีวิธีการเฉพาะของตนเองในการตอนกิ่งพืชที่เกิดรากได้ยาก เช่นการควั่นกิ่งทิ้งไว้ระยะหนึ่งก่อนหุ้มด้วยวัสดุชื้น วิธีนี้อาจได้ผลดี โดยช่วยให้มีการสะสมอาหารบริเวณรอยควั่นมากขึ้น เมื่อมีการให้ออกซินเพิ่มเข้าไปในภายหลังก็จะกระตุ้นให้เกิดจุดกำเนิดรากได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การใช้ออกซินทาที่แผล 2 ครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 15 วัน อาจได้ผลดีกว่าการใช้เพียงครั้งเดียว
สารชนิดอื่นนอกเหนือจากออกซินก็มีผลเร่งการเกิดรากของพืชบางชนิดได้เช่นกัน เช่น สารในกลุ่มเอทิลีน สารชะลอการเจริญเติบโต แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ เราไม่นิยมใช้สารเหล่านี้ในการเร่งราก เนื่องจากการใช้ออกซินสามารถแสดงผลได้เด่นชัดกว่าในพืชหลายชนิด
ที่มา:พีรเดช ทองอำไพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น