ต้นกำเนิดของกระเทียมสำเร็จรูป
ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรของกระเทียมได้ถูกลืมไปประมาณ 40-50 ปี เมื่อยาแผนปัจจุบันเข้ามาเป็นที่นิยมแพร่หลาย จนเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาอัตราการป่วยเจ็บ และตายจากโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ จึงได้ศึกษาสรรพคุณทางยาและองค์ประกอบทางเคมีของกระเทียมอย่างจริงจัง จึงอาจกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันกระเทียมได้รับความสนใจจากนักวิจัยวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถใช้วิทยากรแผนใหม่พิสูจน์ได้ว่ากระเทียมมีผลในการฆ่าเชื้อโรคบางชนิดและลดไขมันในหลอดเลือดได้จริง เมื่อทดลองให้ผู้ป่วยรับประทานกระเทียมสดวันละ 10 กรัม เป็นเวลาติดต่อกัน 2 เดือน ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงมีผู้รับประทานกระเทียมสดเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ก็มีปัญหาเรื่องรังเกียจกลิ่นและรสของกระเทียม นอกจากนี้ การบริโภคกระเทียมซึ่งเป็นองค์ประกอบในการปรุงอาหารนั้นก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า กระเทียม ที่ผ่านการปรุงอาหารโดยผ่านความร้อนนั้น คุณค่าทางโภชนาการย่อมลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการบริโภคกระเทียมสด ดังนั้น ถ้าต้องการได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนโดยไม่ต้องรับประทานกระเทียมสด ผู้บริโภคคงต้องหันมารับประทานกระเทียมสำเร็จรูป ซึ่งกระเทียมสำเร็จรูปนี้ บรรดานักวิจัยคิดค้นขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคกระเทียม เพราะตระหนักดีถึงคุณค่าของกระเทียม และสามารถจะแก้ไข จุดอ่อนของกระเทียมในด้านกลิ่นและรสชาติได้เป็นอย่างดี
ลักษณะการผลิตและผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูป
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายในตลาดมีวิธีการเตรียมต่างๆ กัน ซึ่งพอจะจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ กระเทียมแคปซูล ซึ่งยังจะแบ่งออกเป็นประเภทกระเทียมผงและน้ำมันกระเทียม และกระเทียมอัดเม็ด
สำหรับกระเทียมผง การผลิตในประเทศเป็นผลงานจากการค้นคว้าวิจัยของสาขาวิจัยเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในการสกัดกระเทียมสดเป็นกระเทียมผงบรรจุแคปซูล แนวความคิดเริ่มจากที่เห็นว่ากระเทียมในประเทศมีมากเกินความต้องการ คือ ผลิตได้ประมาณปีละ 166,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้มีการบริโภคภายในประเทศประมาณ 3,800 ตัน ดังนั้น กระเทียมส่วนที่เหลือนี้ควรได้นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารและยามากกว่าการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศในรูปของกระเทียมดิบ กระเทียมผงที่ผลิตได้เป็นกระเทียมสกัดธรรมชาติเข้มข้นชนิดผง (GARLIC NATURA) สามารถใช้แทนกระเทียมสด ในการปรุงอาหาร หรือรับประทานแทนกระเทียมสด โดยกระเทียมผงบรรจุ 1 แคปซูล จะเทียบเท่ากับกระเทียมสด 7 กรัม ขนาดของการรับประทานหลังอาหารเช้าและเย็นครั้งละ 2 เม็ด จะเทียบเท่ากับการรับประทานกระเทียมสด 1 หัวใหญ่ (6-7 กรัม) ถ้าต้องการลดคอเรสเตอรอล ช่วงการเห็นผลจะกินเวลา 4-6 สัปดาห์
กรรมวิธีการผลิตกระเทียมผงเริ่มจากการเก็บกระเทียมสดมาผึ่งให้แห้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลานานประมาณ 1 เดือน กระเทียมสด 3 กิโลกรัม จะได้กระเทียมแห้ง 1 กิโลกรัม กระเทียมที่แห้งแล้วจะเก็บไว้ได้นานไม่เกิน 8 เดือน หลังจากนั้นหัวกระเทียมจะแห้งและฝ่อแฟบไป แต่ถ้าต้องการประหยัดเวลาในการตากแห้ง ให้นำหัวกระเทียมมาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นแว่นบางๆ หรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ วางเกลี่ยบนตะแกรงตากแดด หรืออบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 45-60 องศาเซลเซียสจนแห้ง คือ มีความชื้นเหลือไม่เกินร้อยละ 6 บรรจุในภาชนะที่แห้งสะอาดและปิดสนิท ก่อนตาก ถ้าแช่กระเทียมในสารละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ร้อยละ 0.5 หรือรมด้วยกำมะถัน จะทำให้กระเทียมตากแห้งที่ได้ มีสีดีขึ้นและเก็บได้นานขึ้น จากกระเทียมตากแห้งที่ได้ จะนำมาทำเป็นกระเทียมผงโดยบด ให้ละเอียดร่อนผ่านแร่งผสมแมกนีเซียมสเตียเรต หรือแคลเซียมสเดียเรต ร้อยละ 1 คลุกให้เข้ากัน เพื่อป้องกันการจับกันเป็นก้อน บรรจุใส่ภาชนะที่แห้งสะอาดและปิดสนิท ถ้าชอบรสเค็มก็ใส่เกลือ จะได้กระเทียมผงผสมเกลือโดยใช้กระเทียมผงและเกลือในอัตราส่วน 1 : 4 และถ้าชอบรสเผ็ดก็ผสมพริกไทยด้วย ก็จะได้กระเทียมผงผสมพริกไทยเกลือ โดยใช้อัตรา ส่วนผสม 1:1:5 ตามลำดับ
สำหรับน้ำมันกระเทียม มีการผลิตเพื่อบริโภคในฐานะอาหารเสริมสุขภาพมากกว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งจากการวิจัยพบว่านํ้ามันกระเทียมมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางชนิด เช่น การลดคอเรสเตอรอลและไขมัน รักษาโรคโลหิตจาง โรคข้อ ปรับระดับนํ้าตาลให้เป็นปกติ ป้องกันเลือดแข็งตัว เป็นต้น การผลิตนํ้ามันกระเทียมจะบรรจุอยู่ในแคปซูลซึ่งเป็นวุ้นอ่อนๆ หรือเจลลาติน กลืนง่าย แคปซูลนี้จะผ่านกระเพาะเข้าสู่ลำไส้เล็ก นํ้ามันกระเทียมจะเข้าสู่กระแสเลือดในลำไส้เล็ก บรรดาผู้วิจัยกล่าวว่า วิธีนี้สามารถตัดปัญหาเรื่องกลิ่นของกระเทียมได้เกือบทั้งหมด และยังมีข้อได้เปรียบ คือ สามารถกำหนดปริมาณของกระเทียมที่กินเข้าไปในแต่ละวันได้ นับเป็นวิธีที่เหมาะสมที่จะได้รับคุณประโยชน์ของกระเทียมอย่างเต็มที่ เพราะจะต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และต่อเนื่องเป็นประจำ จึงจะมีผลในการรักษาโรคหรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ส่วนกรรม วิธีการผลิตนํ้ามันกระเทียมนั้นไม่มีรายละเอียดแพร่หลายและไม่มีการผลิตในประเทศ ผลิตภัณฑ์กระเทียมประเภทนี้ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดจะเป็นการนำเข้ามาทั้งสิ้น
สำหรับการผลิตกระเทียมเม็ดหรือกระเทียมอัดเม็ดนั้น นับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการผลิตกระเทียมผง กล่าวคือ แทนที่จะบรรจุกระเทียมผงลงในแคปซูล จะนำมาอัดเป็นเม็ดเคลือบฟิล์มแทน ขั้นตอนการผลิตอย่างคร่าวๆ ก็คือ คั้นนํ้าจากกระเทียมแล้วนำไปทำให้แห้งแบบเย็น เมื่อได้กระเทียมผงแล้วนำไปตอกเป็นเม็ดโดยผสมกับ EXCIPIENT แล้วจึงนำไปเคลือบฟิล์ม ชนิดของฟิล์มที่นำมาเคลือบมีหลายชนิด เช่น ETHYL- CELLULOSE HYDROXY PROPYL CELLULOSE เป็นต้น จุดประสงค์ของการเคลือบฟิล์ม ก็เพื่อที่จะเก็บไว้ในขวดที่ปิดสนิทได้นานถึง 6 เดือน
สภาพการตลาดของกระเทียมสำเร็จรูป
ถ้าจะนับย้อนอดีตของการพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพแล้ว จะเห็นได้ว่ากระเทียมได้รับการพัฒนาให้เป็นอาหารเสริมชนิดแรกของไทย โดยเริ่มมีการผลิตกระเทียมสำเร็จรูปกันอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 5-6 ปีมานี้เอง ผู้ริเริ่มก็คือ สถาบันวิจัยวิทยาคาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำการวิจัยพบว่ากระเทียมเป็นพืชที่มีประโยชน์ในด้านการรักษาโรค ทำให้ริเริ่มโครงการผลิตกระเทียมสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายในตลาด ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีบริษัทเอกชนได้ผลิตออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกัน คือ บริษัทขาวละออเภสัช จำกัด ผลิตกระเทียมบรรจุแคปซูลยี่ห้อ “อิมมิวน¬ท็อป” และบริษัททีโอ เคมีคัล จำกัด ผลิตยี่ห้อซีแลค นอกจากนี้ยังมีบริษัทเล็กๆ อีก 2-3 แห่งผลิตกระเทียมสำเร็จรูปออกจำหน่าย แต่ในระยะต่อมาบริษัทเล็กๆ เหล่านี้ก็เลิกผลิตไป
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระเทียมสำเร็จรูปในตลาดประเทศไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งผิดกับในต่างประเทศที่กระเทียมสำเร็จรูปได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สาเหตุที่การยอมรับกระเทียมสำเร็จรูปอยู่ในแวดวงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากคำว่ากระเทียมในภาพพจน์ของคนไทยแล้วดูไม่มีค่าเลย เป็นเพียงของใช้ประจำครัวและสามารถจะหากินได้โดยง่าย คนไทยจึงไม่รู้สึกตื่นเต้นกับอาหารเสริมสุขภาพประเภทกระเทียมสำเร็จรูปเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเสริมประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนมผึ้ง เกสรดอกไม้ สาหร่าย หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์นมประเภทต่างๆ ซึ่งเมื่อฟังชื่อแล้วดูน่าตื่นเต้นและมีค่ามากกว่า แม้ว่าการวิจัยในเรื่องของคุณค่าของกระเทียมและผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูป และสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคกระเทียมควรจะได้รับรู้ก็คือ หากกระเทียมสดโดนความร้อนถึง 60 องศาเซลเซียสแล้ว คุณค่าทางอาหารแทบจะหมดไป ดังนั้น การบริโภคกระเทียมให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแล้วจะต้องบริโภคกระเทียมสดหรือกระเทียมที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง และจะต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงจะมีผลในการรักษาโรคหรือป้องกันโรคในฐานะอาหารเสริมสุขภาพ
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่กระเทียมสำเร็จรูปไม่โดดเด่นขึ้นมาในฐานะของอาหารเสริมสุขภาพ ก็เนื่องจากสรรพคุณทางยาของกระเทียมหลายอย่างยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีผลมาจากสารเคมีใดที่เป็นส่วนประกอบของกระเทียม ในการทดลองสรรพคุณของกระเทียมแต่ละครั้งและแต่ละการทดลองนั้น ไม่มีรายงานยืนยันว่าเป็นผลมาจากสารอะไรเป็นสำคัญ และปริมาณของสารต่างๆ มีเท่ากันทุกแคปซูลหรือไม่ ไม่ทราบด้วยว่ากระเทียมที่นำมาผลิตเพื่อการทดลองนั้นเป็นกระเทียมพันธุ์เดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน ที่เก็บเกี่ยวในฤดูเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ปริมาณสารอาหารจากแหล่งธรรมชาตินั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามแหล่งที่ปลูก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดิน การให้ปุ๋ย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศจะแตกต่างกัน เป็นผลให้ปริมาณสารอาหารจะแตกต่างกัน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากกระเทียมจึงยังคงต้องวางขายในฐานะเป็นอาหารเสริมสุขภาพ กอปรกับการควบคุมอย่างใกล้ชิดของสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถที่จะทำการโฆษณาสรรพคุณได้มากนัก อีกทั้งการขายยังใช้วิธีผ่านร้านขายยาและวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งเท่านั้น ยอดขายของกระเทียมสำเร็จรูปจึงเป็นลักษณะของนํ้าซึมบ่อทราย ตัวเลข จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหวือหวามากนัก
ในด้านการตลาด แม้จะมีผู้ผลิตและผู้นำเข้ามาจำหน่ายประมาณ 12 บริษัท แต่สภาพการแข่งขันไม่รุนแรงเหมือนกับอาหารเสริมสุขภาพชนิดอื่นๆ สินค้าประเภทกระเทียมสำเร็จรูปที่โดดเด่นมากในช่วงนี้มีอยู่ 2-3 ยี่ห้อก็คือ อิมมิวนีท็อปฃองค่ายขาวละออเภสัช นาทูรา และอาลิค โดยอิมมิวนีท็อป อาศัยชื่อเสียงของบริษัทที่สร้างสมมาเป็นเวลานานจากการขายยาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแผนโบราณและแผนปัจจุบัน ซึ่งผลิตภัณฑ์อิมมิวนีท็อปมีจำหน่ายทั้งชนิดเม็ดและแคปซูล ส่วนค่ายนาทูราและค่ายอาลิคนั้นค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้รับรองคุณภาพให้ โดยเฉพาะอาลิคเป็นผลมาจากการค้นคว้าวิจัยของ “โครงการพัฒนาการผลิตเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพ และบริษัทเมดิคราฟท์ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่าย สำหรับกระเทียมสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจำหน่าย ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมันกระเทียม บรรจุแคปซูล ยี่ห้อที่น่าสนใจ คือ แรนแบ็กซี่ จะจัดอยู่ในประเภทอาหารทั่วๆ ไป จึงสามารถทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายได้ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัททำให้สามารถผลักดันสินค้าเข้าวางจำหน่ายในร้านค้าและตามห้างสรรพสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในด้านการส่งเสริมการขายนั้น ค่ายแรนแบ็กซี่ทุ่มเทงบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น การเปิดซุ้ม “ชิมฟรี” การตั้งโชว์ในซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งการแจกหนังสือแนะนำคุณค่าหรือสรรพคุณต่างๆ ของกระเทียม กิจกรรมทางการตลาด เหล่านี้ส่งผลให้แรนแบ็กซี่เป็นที่รู้จักอย่างดีสำหรับผู้ต้องการบริโภคกระเทียมสำเร็จรูป ในรูปของนํ้ามันกระเทียม
ตลาดของกระเทียมสำเร็จรูปส่วนมากจะเป็นลักษณะกระเทียมผงบรรจุแคปซูล หรืออัดเม็ดมากกว่า โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับเอและบี อย่างไรก็ตาม ราคาขายของกระเทียมบรรจุแคปซูลจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก กล่าวคือ นาทูรา ราคาขายจะแพงกว่าอิมมิวนีท็อปถึง 1 เท่าตัว โดยที่นาทูราจะขายขวด (100 เม็ด) ละ 240 บาท ในขณะที่อิมมิวนีท็อปจะขายเพียงขวดละ 125 บาทเท่านั้น เหตุผลของการตั้งราคาขายในเกณฑ์ตํ่าของค่ายอิมมิวนีท็อปก็เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อถือชื่อเสียงของขาวละออฯ และต้องการให้ทุกคนมีโอกาสที่จะบริโภคกระเทียมสำเร็จรูป สำหรับนํ้ามันกระเทียม มีข่าวว่ามีการแข่งขันสูงมาก แต่ข้อมูลทางการตลาดของนํ้ามันกระเทียมไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก
แต่จากการควบคุมค่อนข้างเข้มงวดของรัฐบาล ทำให้ค่ายอิมมิวนี-
ท็อปเริ่มเบนเข็มไปตลาดต่างประเทศ กอปรกับตลาดต่างประเทศมีความนิยมอาหารเสริมสุขภาพประเภทกระเทียมสำเร็จรูปอย่างมาก ซึ่งตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจก็คือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งแถบเอเชียด้วย อย่างไรก็ตาม การก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพให้เท่าเทียมกับต่างประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่หมด แต่ยังคงจะใช้ยี่ห้ออิมมิวนีท็อปเช่นเดิม และราคาขายคงจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณขวดละ 250 บาท
อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ แม้อัตราการเจริญเติบโตจะช้าเหมือนผลิตภัณฑ์ยา แต่ก็จะได้กลุ่มผู้บริโภคที่เหนียวแน่นเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาคือ คนที่บริโภคแล้วจะไม่ค่อยเลิก นอกจากนี้ ผู้บริโภคมักจะมองว่ากระเทียมสำเร็จรูปเป็นสินค้าทีเหมาะสมสำหรับผู้ชาย ดังนั้นราคาจึงไม่ใช่แรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อ ไม่ เหมือนกับสินค้าอื่นที่ผู้ซื้อจะถูกเปลี่ยนใจง่ายด้วยราคาและของแถม
ตลาดภายในประเทศ
รูปแบบของกระเทียมสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดจะมีหลายรูปแบบ ทั้งกระเทียมผงบรรจุในแคปซูลแข็ง ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็นประเภทที่เป็นผงกระเทียม 100%
ตารางผู้ผลิตกระเทียมสำเร็จรูปในประเทศไทย
ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ตารางผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูป
ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
และผงกระเทียมผสมกับสารอื่น กระเทียมในแคปซูลนิ่มซึ่งเป็นสารประเภทเจลลาติน ข้างในแคปซูลจะเป็นนํ้ามันกระเทียมประมาณ 0.25-1% เจือจางในนํ้ามันพืช กระเทียม เม็ดเคลือบนํ้าตาล กระเทียมเม็ดเคลือบฟิล์ม เป็นต้น ซึ่งกระเทียมทุกรูปแบบในท้องตลาด ผลิตในประเทศไทย ยกเว้นชนิดแคปซูลนิ่ม หรือนํ้ามันกระเทียมที่ทุกยี่ห้อที่มีวางจำหน่าย เป็นการนำเข้าทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม กระเทียมสำเร็จรูปจัดเป็นอาหารตามการวินิจฉัยของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผู้ผลิตแต่ละรายไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณในฐานะเป็นยาได้ ทั้งๆ ที่กระเทียมมีจุดที่น่าสนใจและมีสรรพคุณทั้งในทางอาหารและยา แต่หากจะต้องการโฆษณาสรรพคุณในด้านการรักษาโรคแล้วจะต้องจดทะเบียนในรูปของยา ซึ่งหมายถึงการโฆษณานั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบและการยอมรับจากวงการแพทย์ก่อน สาเหตุ ดังกล่าวนี้นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้บริโภคเป้าหมายหลายรายไม่มั่นใจในสรรพคุณของกระเทียม เนื่องจากไม่สามารถจะระบุประโยชน์ใดๆ เกี่ยวกับสุขภาพลงบนฉลากได้ และการรับประทานกระเทียมสำเร็จรูปจะต้องรับประทานติดต่อกัน 1-4 เดือนจึงจะเห็นผลชัดเจน ทำให้ปริมาณการจำหน่ายไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร
แนวโน้มสำหรับตลาดกระเทียมสำเร็จรูป คาดว่าตลาดภายในประเทศยังจะสามารถขยายขอบเขตตลาดออกไปได้ถ้ามีการเผยแพร่และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อผู้บริโภค สำหรับการเจาะตลาดต่างจังหวัดยังจะต้องอาศัยระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูปดีขึ้นก็อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขที่ควรจะยอมรับกระเทียมสำเร็จรูปว่ามีส่วนช่วยลดอัตราการตาย เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือเส้นโลหิตแตกเนื่องจากความดันโลหิตสูง ดังนั้น การผ่อนคลายความเข้มงวดเรื่องการเขียนประโยชน์ของกระเทียมลงบนฉลากได้จะช่วยตลาดกระเทียมได้มาก ซึ่งในหลายๆ ประเทศในยุโรปยอมรับการเขียนในลักษณะนี้แล้ว
สิ่งที่รัฐบาลควรจะคำนึงถึงให้มากก็คือ หากการบริโภคกระเทียมสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น นอกจากจะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม โรงงานผู้ผลิตกระเทียม สำเร็จรูปแล้ว ยังจะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี รักษาทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อประเทศชาติได้
ตลาดต่างประเทศ
ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้ความสนใจในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพภาพเป็นเวลานานแล้ว จึงมีผู้ผลิตในประเทศผลิตสินค้าป้อนตลาดเอง หรือหากจะนำเข้าก็จะให้ความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น อุปสรรคสำคัญของการก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศของผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูปก็คือ รูปแบบผลิตภัณฑ์และราคา โดยตลาดของไทยยังไม่กว้าง การผลิตยังมีรูปแบบน้อย และราคาผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูป ยังอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตและการบรรจุ แม้ว่าราคาวัตถุดิบคือกระเทียมจะมีราคาอยู่ในเกณฑ์ตํ่า
บริษัทที่เปิดตัวอย่างชัดเจนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูปคือ บริษัท ขาวละออเภสัช โดยเริ่มจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอนูกาในเยอรมันตะวันตกร่วมกับกรมพาณิชย์สัมพันธ์ ซึ่งในงานนี้เป็นการแนะนำกระเทียมสำเร็จรูปให้ลูกค้าในต่างประเทศรู้จัก หลังจากนั้นผู้นำเข้าในเยอรมันตะวันตกได้ส่งตัวแทนฝ่ายโภชนาการมาเยี่ยมชม โรงงานเพื่อดูการผลิต และให้ความสนใจนำเข้ากระเทียมสำเร็จรูปไปจำหน่ายในเยอรมันตะวันตกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้นำเข้าจากอังกฤษและญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูปเพื่อไปทดลองตลาด จุดขายของบริษัทก็คือ บริษัทได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย และได้ผ่านการตรวจสอบจากบริษัท เอส.จี.เอส. ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบสินค้าส่งออกเรียบร้อยแล้ว นับได้ว่า ค่ายขาวละออฯ จะเป็นผู้บุกเบิกตลาดต่างประเทศเช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จ ในการบุกเบิกตลาดในประเทศมาแล้ว
ประเทศที่คาดว่าจะเป็นคู่แข่งขันในการผลิตกระเทียมสำเร็จรูปประเภทเดียวกับไทยจำหน่าย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกา แต่คาดว่าผลิตภัณฑ์กระเทียมสำเร็จรูปจากประเทศไทยสามารถจะแข่งขันได้ทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น